โบราณสถานถ้ำเขาเงิน ตัั้งอยู่ที่ หมู่ ๗ บ้านเขาเงิน ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เขาเงินเป็นเขาลูกโดด อยู่ห่างจากอำเภอหลังสวนมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๔ กิโลเมตร ขนาดของภูเขากล้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร สูงประมาณ ๖๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ริมแม่น้ำหลังสวน จึงมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามและอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือจุดแวะพักผ่อนมาตั้งแต่อดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒
ตามตำนานพื้นบ้านเล่าว่า ผู้พบถ้ำเขาเงินคือ ตาเกด ในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ขณะเดียวกันมีชาวบ้านคนหนึ่งพบพระพุทธรูปที่ทุ่งนา ดังนั้น ตาเกดและชาวบ้านผู้นั้นจึงมีความประสงค์จะนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในถ้ำที่เขาเห็นและเรียกชื่อถ้ำว่า ถ้ำเขาเห็น ครั้งต่อมาเปลี่ยนเป็น เขาเอ็น และ เขาเอน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า ถ้ำเขาเงิน ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลาูยู เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ พระองค์ทรงบันทึกเมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำเขาเงินดังความตอนหนึ่งว่า
วันที่ ๑๐ ก่อนกินข้าวไปที่สวนพระยาจรูญ อยู่ใต้บ้านนาลงมาหน่อยหนึ่งปลูก มะพร้าว หมาก พลู กาแฟ มังคุด มะไฟ เงาะ และต้นผลไม้เมืองจีนต่างๆ ทั้งกานพลู จันทร์เทศ ทุเรียน ลางสาด นับเป็นพืชสวน เวลาเวาลาปล่อยเรือขึนไปตามลำน้ำ น้ำเชี่ยวหนัก ขึ้นไปทุกทีจนพอเรียกว่าแก่งได้ แต่แปลกกันกับข้างไทรโยคแม่น้ำนั้น ดูค่อยๆ สูงขึ้นไปมีที่น้าเชี่ยว น้ำอับ แต่ในแม่น้ำไม่ที่น้ำอับ มีแต่เชี่ยวมาก เชี่ยวน้อย และเห็นเขาสูงในระยะใกล้ๆเรือไฟอนิครอฟต์ ลากขึ้นไปสองชั่วโมงกับ ๔๕ มินิต ถึงหน้าถ้ำเขาเอ็น เป็นถ้ำเสมอพื้นตลิ่ง แต่ศิลาหน้าผาหน้าสูงใหญ่งามดูงามดี มีสามถ้ำด้วยกัน ถ้ำกลางตอนหน้าไม่สูงกล้างใหญ่ปากถ้ำเปิดสว่างมีพระพุทธรูปโตบ้าง ย่อมบ้าง ปิดทองใหม่ ๖ องค์ พระศิลาพม่าของพระยาระนองและพระยาหลังสวนมาตั้งไว้สององค์ ได้จารึกอักษร (จปร.) ไขว้กับศักราชที่เสด็จประพาสตามที่เคยจารึกไว้ตามผนังถ้ำและให้สร้างพระเจดีย์ซึ่งกำลังทำค้างอยู่ที่ชะง่อนศิลาหน้าถ้ำองค์หนึ่ง อีกสองถ้ำสองถ้ำขึ้นไปปากถ้ำแคบ และด้านในมืด
ส่วนจารึกบนฐานเจดีย์ที่ชะง่อนหินหน้าถ้ำได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระดำเนินประพาสหัวเมืองยังทะเลตะวันตกถึงเมืองลาน เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ประทับแรมที่พลับพลา ตำบลบางขันเงิน ครั้นถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม เสด็จพระราชดำเนินทางชลมานคขึ้นตามถึงวัดเขาเอน มีพระเจดีย์ที่ทำค้างอยู่ที่ชะง่อนหน้าถ้ำ ได้ทราบพระราชดำริว่าควรสถาปนาพระเจดีย์ขึ้นให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนต่อไป และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซ่อมบูรณะเจดีย์ แล้วเสร็จเมื่อ ร.ศ.๑๑๑ หรือ พ.ศ.๒๔๓๕ และ ได้มีการฉลองขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จารึกประกาศพระราชูทิศไว้ในแผ่นศิลา ติดไว้ที่พระฐานเจดีย์ เพื่อเป็นที่มหาชนผู้มานมัสการได้อนุโมทนาในพระราชกุศลจริยารัตนัย ตยเจดิยมติฎฐปนมัยสุลาลี
รูปแบบศิลปกรรม
๑. ถ้ำเขาเงินปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ ๕ องค์ที่ผนังถ้ำด้านขวามือ (หันหน้าเข้า) มีพระปรมาภิไธย จปร. ๑๐๘ ทาทับด้วยชาด ปัจจุบันได้ทาสีแดงอาคลีลิกทับแล้วปิดทอง
๒. เจดีย์ อยู่ตรงข้ามหน้าถ้ำ ห่างประมาณ ๑๕ เมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐสอปูน องค์ระฆังกลมตั้งอยู่บนมาลัยลูกแก้ว ๓ ชั้น ส่วนบนเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรเสาหาร ปล้องไฉนและปลียอด สูง ๑๐.๒๖ เมตร ฐานเจดีย์กว้าง ๕.๙๔ เมตร
๓. รอยพระพุทธบาทสำริด ตั้งอยู่บนศาลาบริเวณไหล่เขาด้านทิศใต้เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ยาว ๑๘๓ เมตร
* การครองที่ดินหรือผู้ดุแล เทศบาลเมืองหลังสวน
* การใช้งานในปัจจุบัน จังหวัดชุมพรได้ปรุงพื้นที่รอบเขาเงินเป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ชุมพร ด้วยการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของอำเภอหลังสวน
* สภาพปัจจุบัน ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี