ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 20° 15' 18.1858"
20.2550516
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 10' 46.7278"
100.1796466
เลขที่ : 109366
อนุสรณ์สถานสามผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.)
เสนอโดย ตุ๊ต๊ะต๋อมแต๋ม วันที่ 22 สิงหาคม 2554
อนุมัติโดย sirirat_admin วันที่ 19 ธันวาคม 2555
จังหวัด : เชียงราย
0 1923
รายละเอียด

๑. ความเป็นมาของสร้าง

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ เป็นต้นมา กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ( ผกค .) ในเขตจังหวัดเชียงราย ได้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ ทางการต้องดำเนินการปราบปราม ทั้งในทางการใช้กำลังและการใช้จิตวิทยาในการเจรจาต่อรองให้ กลุ่ม ผกค . มอบตัวต่อทางราชการ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๓ นายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งจาก กลุ่มผกค . โดยผ่านทาง นายสงัด สิทธิ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ว่ามีผู้ก่อการร้ายประสงค์ขอ เข้ามอบตัวต่อทางราชการ และนัดมอบตัวในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๓ เวลา ๑๐ . ๐๐ น . ณ จุดนัดพบดอยหลวงแปรเมือง เขตติดต่ออำเภอเชียงของ – เชียงแสน ครั้นถึงวันนัดเวลา ๐๘ . ๓๐ น . นายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย , พ . ต . อ . ศรีเดช ภูมิประหมัน อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย , พ . อ . จำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ ๓ , นายสมบูรณ์ พรหมเมศ นายอำเภอเชียงแสนและคณะจำนวน ๙ คน ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังจุดนัดพบ ดอยหลวงแปรเมือง เพื่อรับตัวผู้ก่อการร้าย จนเมื่อเวลา ๑๐ . ๐๐ น . คณะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตัดสินใจเดินทางไปรับผกค . ด้วยตนเองโดยไม่พกอาวุธใดๆติดตัวไป เนื่องจากต้องการแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ โดยให้ นายสงัด สิทธิเป็นผู้นำทาง เมื่อคณะเดินไปได้ประมาณ ๒๐๐ เมตร กลุ่ม ผกค . ซึ่งซุ่มอยู่ข้างทางได้ทำการระดมยิงไปยังคณะของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกระสุนปืนถูก นายประหยัด สมานมิตร , พ . อ . จำเนียร มีสง่า , พ . ต . อ . ศรีเดช ภูมิประหมัน เสียชีวิตทันที จนเมื่อเวลาประมาณ ๑๒ . ๐๐ น . จึงได้นำศพผู้เสียชีวิตทั้ง ๓ ท่านกลับจังหวัดเชียงราย การสูญเสียสามผู้กล้า พ.ต.ท.จังหวัดเชียงรายครั้งนั้นยังจารึกคุณงามความดี การพลีชีพเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทยอยู่ในหัวใจคนเชียงรายและชาวไทยมิรู้ลืมตลอดเวลา
ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความเสียสละและการอุทิศตนเพื่อบ้านเมืองของทั้งสามท่าน ซึ่งสมควรได้รับการยกย่อง เกียรติประวัติของท่านได้รับทราบเฉพาะคนในรุ่นนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ถูกลืมเลือนไป คนในรุ่นปัจจุบันไม่ทราบเรื่องราวดังกล่าวที่ เกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากไม่มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าที่ทราบเรื่อง และไม่มีสิ่งเตือนใจหรือสิ่งที่สามารถเป็น ตัวแทนของผู้เสียสละทั้งสามท่านได้
จากเหตุผลข้างต้น จังหวัดเชียงรายจึงได้จัดทำโครงการการจัดสร้างอนุสรณ์สถานสาม ผู้กล้า พตท. ณบ ้านห้วยกว๊านเหนือ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบริเวณที่ เกิดเหตุ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นสิ่งที่ระลึกถึงคุณความดี ความเสียสละและเกียรติประวัติ การอุทิศตนเพื่อบ้านเมืองของผู้บริหารระดับจังหวัด ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบและเอาเป็นแบบอย่างต่อไป
อนึ่ง การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ขนาดความสูง ๑๒ เมตร ทำด้วยวัสดุสแตนเลส ฐานกว้างด้านละ ๔ เมตร ทำด้วยวัสดุหินอ่อน ฐานด้านหน้าจารึกประวัติและภาพถ่ายของทั้งสามผู้กล้า ลักษณะฐานสามเหลี่ยมสอดรับกับรูปร่างของอนุสรณ์สถาน ให้ความหมายองค์รวมคือ สถาบันสูงสุดของชาติ เป็นรากฐานแห่งความเสียสละ ประมวลเป็นองค์ประกอบประติมากรรมกลางขุนเขาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของทั้งชาวจังหวัดเชียงรายและชาวไทยทั่วไป โดยมีงบประมาณ จากภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรประชาชน ประชาชนที่มีจิตศรัทธา จำนวน ๑ , ๒๐๐ , ๐๐๐ บาท ( หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน ) ออกแบบโดย นายกนก วิศวะกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ด้านศิลปวัฒนธรรม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมพิธีเปิดอนุสรณ์สถานฯ ในวันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๐ . ๐๐ น . ณ บ้านห้วยกว๊านเหนือ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสียชีวิตของทั้งสามท่าน โดยจะมีการประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน รวมทั้งมีการวางพวงมาลาแด่สามผู้กล้า โดย ฯพณฯ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีฯ

๒. วัตถุประสงค์

๒ . ๑ เพื่อเป็นการเผยแพร่ ระลึกถึงคุณความดี เกียรติประวัติ และความเสียสละต่อบ้านเมืองของ ทั้งสามท่านให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบและเป็นแบบอย่างที่ดี
๒ . ๒ ให้อนุชนรุ่นหลังเกิดความรักและหวงแหนในผืนแผ่นดินของตนเอง
๒ . ๓ สะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้นที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้ายและเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
๒ . ๔ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเชียงราย

๓. สถานที่ตั้ง

อนุสรณ์สถานสามผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยกว๊าน หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย การเดินทางใช้เส้นทางสายเชียงแสน – เชียงของ ห่างจากตัวอำเภอเชียงแสน ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒๓ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงราย เป็นระยะทางประมาณ ๙๕ กิโลเมตร
พื้นที่ หมู่ที่ ๙ บ้านห้วยกว๊าน ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความหนาแน่นของจำนวนครัวเรือน ๗๘ ครัวเรือน จำนวนประชากร จำนวน ๕๗๐ คน แยกเป็นชาย จำนวน ๒๔๘ คน หญิง ๓๒๒ คน
พื้นที่ติดต่อ คือ หมู่ที่ ๕ บ้านป่าตึง และ หมู่ที่ ๖ บ้านเกาะผาคำ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

๔. ระยะเวลาดำเนินการ

มิถุนายน ๒๕๔๗ ถึง ๑ กันยายน ๒๕๔๗

๕. งบประมาณ

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจาก
๑ . สมาคมนักปกครอง จำนวน ๑ , ๓๖๐ , ๐๐๐บาท
๒ . องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแซว จำนวน ๕๐๐ , ๐๐๐ บาท
๓ . ทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงราย จำนวน ๑๕ , ๐๐๐ , ๐๐๐ บาท
รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๖ , ๘๖๐ , ๐๐๐ . บาท ( สิบหกล้านแปดแสนหกหมื่นบาทถ้วน )

๖. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สำนักงานจังหวัดเชียงราย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองเชียงราย สำนักงานทางหลวงชนบทเชียงราย * ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน * องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ประวัติผู้ว่าราชการจังหวัดเกียรติยศแห่งชาติ
นายประหยัด สมานมิตร
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

เป็นบุตรของ นายเข็มและนางเยื้อน สมานมิตร เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๖๘ ณ ต . ท่าเรือ อ . ท่าเรือ จ . พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาชั้นสูงสุด ระดับปริญญาโท ทางการบริหารงานนครหลวง (M.A. in Urban Affairs) จาก มหาวิทยาลัยพิตสเบอร์ก สหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ารับ ราชการในตำแหน่งเสมียนมหาดไทย อ . เมืองสระบุรี จ . สระบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๙๑
และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับขั้น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๓
นายประหยัด สมานมิตร สมรสกับ คุณหญิงรัตนา (บุณยะรัตเวช) ไม่มีบุตรด้วยกัน และ เสียชีวิตจากวีรกรรมสามผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร ( พตท .) เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเกียรติศักดิ์ไทยที่ประชาชนชาวเชียงรายและชาวไทยขอยกย่องให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเกียรติยศแห่งชาติ

ประวัติ
พลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน
อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย

เป็นบุตรของ นายมี และ นางมน ภูมิประหมัน เกิดเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๖๙ ณ บ้านข้าวหลาม ต . กมลาไสย จ . กาฬสินธุ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน รุ่นที่ ๖ เมื่อปี พ . ศ . ๒๔๙๕ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๘๘ ชั้นพลตำรวจ โรงเรียนตำรวจภูธร ภาค ๓ จ . สกลนคร และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการคือ
พันตำรวจเอก ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ( เทียบเท่าตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ) สมรสกับ นางกาญจนาภรณ์ ภูมิประหมัน มีบุตรด้วยกัน จำนวน ๔ คน เสียชีวิตจากวีรกรรมสามผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร ( พตท .) เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๓ โดยได้รับ พระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นยศจาก พันตำรวจเอก เป็นพลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมันด้วยความทรงจำที่ดีซึ่งประชาชนชาวไทยไม่เคยลืม

ประวัติ
พลโทจำเนียร มีสง่า
ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ ๓

เป็นบุตรของ นายโห้ และ นางเขียน มีสง่า เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๖๘ ณ บ้านแพน ต . พุดเลา อ . บางประหัน จ . พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า กรุงเทพฯ ในปี ๒๔๘๘ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ ในตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๒๓ จ . อุบลราชธานี จนเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๒ ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ ๓ สมรสกับ นางบุญเรือน มีสง่า มีบุตรด้วยกัน ๕ คน เสียชีวิตจากวีรกรรมสามผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร ( พ . ต . ท .) เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๓ โดยได้รับการพระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนจาก พันเอก เป็นพลโทจำเนียร มีสง่าด้วยความทรงจำที่ดีซึ่งชาวไทยไม่เคยลืม

๘. การออกแบบอนุสรณ์สถาน

อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า พตท . ออกแบบโดยนายกนก วิศวะกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายด้านศิลปวัฒนธรรมโดยการรวมแนวความคิดจากบุคคลต่างๆ ประสานเข้าด้วยกันสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ออกแบบโครงสร้างฐานราก และออกแบบภูมิทัศน์ โดยรูปทรงอนุสรณ์สถาน เป็นรูปทรงปิระมิด เพื่อสื่อความหมายถึงความเสียสละที่มั่นคง ถาวร อนุสรณ์สถานฯ แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนประธานได้ออกแบบเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมทรงสูง มีความกว้างด้านละ ๓ . ๑๓ เมตร ความสูง ๑๓ . ๑๓ เมตร สร้างด้วยโลหะปลอดสนิม ผิวเรียบมัน สื่อสะท้อนถึงความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ความมีวินัย คมชัด แนวเส้นรอบนอกเลือกใช้เส้นโค้ง เพื่อช่วยให้ภาพมีความเคลื่อนไหวอย่างสง่างามฐานรองรับ ออกแบบเป็นแท่งหินอ่อนสีเทา ด้านบนทำเป็นรูปปิรามิด มีเครื่องหมาย “ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ( กอ . รมน .)” ประทับอยู่ด้านบน เพื่อสื่อถึงความมั่นคงของสามสถาบันหลักของชาติ ที่ได้รับการปกป้องเชิดชูไว้ด้วยชีวิต แท่นฐานด้านหน้า จารึกนามและเกียรติประวัติของสามผู้กล้าฯ ด้านข้างจารึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฐานด้านข้างมีความกว้างด้านละ ๔ . ๕๐ เมตร มีความสูง ๓ . ๔๐ เมตร บริเวณมุมอนุสรณ์สถานฯ ทั้งสามมุม ประดับด้วยพานบายศรีทรงสูง อันเป็นเครื่องหมายแห่งคารวะธรรมของชาวล้านนา ขนาดความสูงทั้งหมดของอนุสรณ์สถานฯ ๑๖ . ๔๐ เมตร ผู้ออกแบบให้ประมวลแนวความคิดของช่างท้องถิ่นหลายท่าน ตลอดทั้งผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด ว่ารูปแบบของอนุสรณ์สถานควรมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร เพื่อที่จะให้สอดคล้องและบันทึกความรู้สึกทางจิตใจร่วมกันของผู้อยู่ข้างหลัง เพื่อให้ได้ภาพที่สะท้อนถึงความเสียสละอย่างสูงสุด วีรกรรมกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น เพื่อหลอมรวมความรู้สึกรักชาติบ้านเมืองไว้เป็นหนึ่งเดียว มีขั้นตอนการออกแบบ คือ
๑. ออกแบบเป็นรูปปั้นภาพเหมือนของทั้ง ๓ ท่าน ยืนอยู่บนแท่นฐาน โดยจัด องค์ประกอบให้ท่านยืน
๑.๑ ยืนเรียงเป็นหน้ากระดานหันหน้าไปทางเดียวกัน
๑.๒ ยืนล้อมวงหันหน้าเข้าหากัน พร้อมจับมือกันชูขึ้นเบื้องบน
๑.๓ ยืนล้อมวงหันหน้าออกพร้อมจับมือชูขึ้นเบื้องบน
๒. ได้นำแนวความคิดของรูปแบบ ๑.๓ ออกมาเป็นแนวทางหลักในการออกแบบ โดยลดรายละเอียดเรื่องความเหมือนของบุคคลอันเป็นภาพเหมือนตามธรรมชาติลง ให้เหมือนรูปทรงที่เป็นแกนหลัก เป็นรูปทรงปิรามิด จากนั้นจึงปรับปรุงโครงสร้างของรูปทรงภายนอกให้มีแนวเส้นที่ อ่อนโยนขึ้น เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับสภาพภูมิทัศน์ (ภูเขา) ในการเลือกใช้วัสดุในการจัดสร้างนั้นได้เลือกใช้สแตนเลสผิวมันและผิวด้านสลับกันความแวววาวของผิวโลหะให้ความรู้สึกแน่วแน่ คมชัดและความมีวินัย ส่วนฐาน ได้ออกแบบเป็นรูปสามเหลี่ยมสร้างด้วยคอนกรีตบุหินอ่อน ด้านหน้าจารึกประวัติของผู้กล้าทั้งสาม

สถานที่ตั้ง
บ้านห้วยกว๊าน
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้านซอย - ถนน -
ตำบล บ้านแซว อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแซว
บุคคลอ้างอิง นางสาวทัศนีย์ ดอนเนตร์ อีเมล์ tudsanee_l@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเชียงแสน
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ริมกก อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57150
โทรศัพท์ 053777110 โทรสาร 053777115
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่