เวลาประมาณ 04.00 น. (ตีสี่) ของวันบุญพะเหวด (เทศน์มหาชาติ)ญาติโยมคนเฒ่าคนแก่จะนำปั้นข้าวเหนียวก้อนเล็กๆขนาดเท่าหัวแม่มือหรือจะขนาดเท่านิ้วกอ้ยก็ได้จำนวนหนึ่งพันก้อนซึ่งเท่ากับหนึ่งพันพระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกใส่ถาดจากบ้านเรือนของตนออกแห่จากหมู่บ้านเข้ามาที่ศาลาโรงธรรมเวียนรอบศาลาโรงธรรมสามรอบแล้วจึงนำข้าวพันก้อนเหล่านั้นไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักทุงไซยทั้งแปดทิศและใส่ไว้ในตะกร้าที่วางอยู่บนศาลาตามจุดมี ทุงโซ และเสดกะสัดเมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้วก็จะมีการเทศน์สังกาศคือการเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบสังกาศก็จะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านเรือนของตนนำข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรจังหันหลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้วจึงจะเริ่มเทศน์พะเหวดโดยเริ่มจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงนครกัณฑ์รวมสิบสามกัณฑ์ ซึ่งจะใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำและมีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบ ผู้นั้นจะได้รับอานิสงฆ์มาก
ประเพณีพิธีแห่ข้าวพันก้อน จะทำพิธีนี้เมื่อมีการทำบุญพระเวสหรือบุญมหาชาติ และเมื่อฝนไม่ตกในฤดูทำนา มีจุดประสงค์เพื่อขอฝน แต่เป็นการขอกับพระรัตนตรัยไม่ได้ขอจากเทวดา (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2545:178)
การแห่ข้าวพันก้อน นิยมแห่ในตอนเช้ามืด ข้าวพันก้อน หมายถึง ข้าวเหนียวทำเป็นก้อนเล็ก ๆ บ้านละเล็กละน้อยรวมกันเข้าได้ 1,000 ก้อน ซึ่งหมายถึง คาถาในพระเวสสันดรชาดก 1,000 พระคาถา แล้วนำถวายเป็นพุทธบูชา