ก่อนจะถึงงานปอยหลวงสัก 2-3 วันจะเป็นวันนัดทานตุง(ตานตุง) โดยศรัทธาของวัดนั้นเป็นผู้สร้างตุงถวายใครจะทานก็ได้ไม่ทานก็ได้ แต่ส่วนมากจะทานกัน เมื่อจะมีงานฉลองวันทานตุงนี้ทำตอนเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรแล้วก็เวนทานตุง เมื่อเสร็จแล้ว ตุงของใครของมันเขาจะนำมาฝังค้าง(เสาไม่ไผ่)สูง 3-4 วา ฝังเป็นระเบียบเป็นแนวจากหน้าวัดออกไปสู่สองฟากถนนที่จะเข้ามาหาวัด บางคนทานตุงมาก จะปักฝังออกมาไกล-จากวัด เราขับรถผ่านตุงนี้มีที่ไหน ก็รู้ว่าวัดแถวนั้นจะมีงานหรืองานปอยหลวง
การสร้างตุงถวายทาน เป็นคตินิยมของคนล้านนาไทยมาแต่โบราณ ด้วยความเข้าใจว่า เมื่อตายไปแล้วได้ไปตกนรกก็ดี ชายตุงที่ตัวเคยทานไว้นั้นอาจช่วยกวัดเอาวิญญาณพ้นจากนรกหรืออาจช่วยปัดสิ่งร้าย ๆทั้งหลายให้ห่างตัวไป จะสังเกตเห็นตามถนนหนทางที่มีรถวิ่งเป็นประจำเขาจะปักตุงส่วนมากสีแดงไว้ จะมีกองทรายใบตองแห้ง ๆ อยู่พึงรู้ว่าตรงนั้นมีคนตายโหง การที่เขาทานตุงปักตุงไว้ตรงนั้น เพราะเข้าใจว่าชายตุงนั้นจะช่วยกวัดวิญญาณของคนตายไปเกิดในที่ชอบ ไม่ให้เป็นอสูรกายผีร้ายอยู่ที่นั้น
สมัยโบราณจริงๆท่านให้ทานตุงเหล็กตุงทอง อุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ตายไปเป็นเปรต เป็นอสูรกาย สามารถช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากภาวะนั้นได้ เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ พลสังขยา