บ้านหนองบัวคำ
ที่ตั้ง หมู่ที่ ๔ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร มีอาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว ทิศใต้ติดต่อกับ หมู่ที่ ๓ ตำบลห้วยแก้ว ทิศตะวันออกติดต่อกับ หมู่ที่ ๗ ตำบลห้วยแก้ว
ทิศตะวันตกติดต่อกับหมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยแก้ว เส้นทางเข้าสู่ชุมชนใช้ ถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก
ประวัติและที่มาของชื่อ ชุมชนหนองบัวคำ ตั้งประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๘๔ หรือประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว แยกออกจาก หมู่ที่ ๙ ตำบลโพธิ์ไทรงาม มีผู้เล่าว่าผู้ก่อตั้งชุมชน คือ ย่านิล ทองเชื้อ ซึ่งมีลูก ๙ คน ประกอบด้วย นายเมือง นายผาย นายนอย นายหนุย นายโหน่ง นางใจ นางคำหล้า นางพัด นางเสริฐ อพยพมาจากบ้านดอนมะนาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกมาก ที่
จ.สุพรรณบุรี มีที่ทำกินน้อย จึงเดินทางโดยการเดินเท้า ใช้เกวียนเป็นพาหนะในการขนของ มาจับจองที่ทำกินโดยการหักล้างถางพงตามกำลัง สภาพทั่วไปเมื่อตั้งชุมชน ที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบ ประกอบด้วย ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ยาง และมีหนองน้ำใหญ่ เต็มไปด้วยบัวนานาพันธุ์ เหมาะแก่การทำนาและการเกษตร จึงเรียกชื่อบ้านว่า หนองบัวสะพรั่ง ตามลักษณะของหนองน้ำซึ่งมีบัวจำนวนมาก และมีชาวบ้านเรียกกันเพี้ยนว่า หนองบัวกระพัง ซึ่งต่อมา นายทองสุข ทองคำ (ลูกของนางพัด) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๙ ตำบลโพธิ์ไทรงาม เห็นว่าคำว่า หนังบัวกระพัง มีคำว่า “พัง” ซึ่งมีความหมายไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน โดยนำคำว่า “คำ” ส่วนหนึ่งของนามสกุลตนเอง มาตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หนองบัวคำ ปัจจุบัน บ้านหนองบัวคำ ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ ไทยทรงดำ ประมาณ ๘๐% และไทยกลาง ประมาณ ๒๐% ซึ่งไทยทรงดำ ได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมมาใช้ในชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ การแต่งกาย อาหาร ลักษณะการปลูกบ้านเรือน ภาษา ประเพณีเสนเรือน ป้าดตง กินข้าวแลง การฟ้อนแคนอิ่นกอน และอาชีพการทอเสื่อ การทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยไม้ ตระกูลที่สำคัญ ได้แก่
ตระกูลทองคำ ตระกูลทองเชื้อ
ผู้ให้ข้อมูล:
๑.นายลำจวน ทองคำ เลขที่ ๑๒๗ หมู่ที่ ๔ ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร
๒. นางสายทอง พรหมอยู่ เลขที่ ๓๓๓ หมู่ที่ ๔ ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร