วัดหลวงขุนวิน
วัดหลวงขุนวิน ตั้งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำขุนวิน หมู่ที่ 16 บ้านขุนวิน ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่วัดอยู่ในเขตการปกครองสงฆ์เขตตำบลดอนเปา หมู่ ๙ ตำบลดอนเปา อำเภอ แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดร้าง และทำการยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕
วัดหลวงขุนวิน ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมานั้นมีเจริญรุ่งเรือง และเสื่อมไปตามยุคตามสมัยเรื่อยมา ครั้นมาสมัยหนึ่งมีหลักฐานจารึกในใบลานว่า เจ้าหมื่นคำซาว ฐานะเป็นน้องของขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ทำนุบำรุงวัดหลวงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมี ครูบาปัญญาวงศ์ศา เป็นเจ้าอาวาส ช่วงปี พ.ศ. ๑๗๖๐ ได้เจริญรุ่งเรืองมา เมื่อ ปี พ.ศ. ๑๘๐๒ พม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่แตก วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ครูบาอุ่นเรือน สุภทโท อยู่วัดบ้านกวน ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง มาบูรณะวัดนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อบูรณะเสร็จได้นิมนต์ครูบาอภิชัยขาวปี มาเป็นประธานร่วมฉลองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ครูบาอุ่นเรือนอาพาธหนัก และได้มรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่วัดบ้านกวน ต่อมาเจ้าชื่นสิโรรส ได้นิมนต์หลวงปู่เณรจันทร์ อุ่นเรือน จากวัดอุโมงค์ เณรจันทร์ มาจำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้มีพระอาจารย์ สมบูรณ์ รตนญาโณ วัดเขาแหลม จังหวัดเพชรบูรณ์ จำพรรษาอยู่ได้ ๘ ปี และได้มอบให้แก่พระอาจารย์ จรัญ ทกขญาโณ แห่งวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ดูแลสืบมาจนถึงปัจจุบัน
วัดหลวงขุนวิน เป็นวัดที่มีภูมิทัศน์อันสวยงาม ประกอบกับมีเสนาสนะต่าง ๆ เช่น เจดีย์ และวิหารของวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ลักษณะองค์ระฆังเล็กบนชั้นฐานปัทม์ย่อเก็จ เปรียบเทียบได้กับเจดีย์วัดชมพู วัดเชษฐา วัดผ้าขาว ในเขตเมืองเชียงใหม่ วิหารและอุโบสถเป็นอาคารยกพื้นก่ออิฐ โครงสร้างเสาและเครื่องหลังคาไม้มุงกระเบื้องดินเผา ตกแต่งและประดับชิ้นส่วนประกอบตัวอาคาร ในส่วนหน้าบัน โก่งคิ้ว หูช้าง อุดปีกนก ช่อฟ้า ตัวนาค ฯลฯ มีการแกะสลัก – ฉลุไม้ และประดับกระจกลงรักปิดทอง โดยเฉพาะรูปแบบการก่อสร้างกำแพงแก้ว แวดล้อมส่วนพุทธาวาสและทำโขงประตูนั้น เปรียบเทียบรูปแบบและมาตราส่วนได้ชัดเจนใกล้เคียงกับวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ประมาณอายุสมัยการก่อสร้างของวัดหลวงขุนวิน จากรูปแบบผังการก่อสร้างและเค้าโครงร่างเดิมของรูปแบบเจดีย์ประธาน ว่าอยู่ในระยะต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หรือเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และไปปฏิบัติธรรมเจริญศีลภาวนาได้ทุกวัน