ประเพณีการลงข่วงเข็นฝ้ายบ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโคก อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
การลงข่วงเข็นฝ้ายบ้านหนองนาคำ หมายถึง โดยการรวมกลุ่มกันทำงานในเวลากลางคืนรอบกองไฟบริเวณลานบ้าน (ข่วง) จะทำกันในหน้าหนาวเมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้วชวนกันมาลงข่วง เพื่อเข็นฝ้าย และทำงานหัตถกรรมอื่น เช่น ผู้หญิงเข็นฝ้าย ปั่นด้าย ทำเส้นปอเส้นกกสำหรับทอเสื่อ ผู้ชายก็เป่าแคน เป่าขลุ่ย ดีดพิณ ร่วมร้องรำทำเพลง พูดผญา ด้วยความสนุกสนานระหว่างทำงาน ถ้าหิวก็ทำอาหารแบบง่าย ๆ กินกัน เช่น การปิ้งข้าวจี่ คั่วเม็ดมะขาม พอถึงเวลาประมาณสี่ทุ่มห้าทุ่มก็เลิกข่วง ก็จะนัดกันพบกันอีกในวันถัดไป ใครรักใครชอบใครจะไปส่งผู้หญิงถึงบ้าน บางครั้งก็ไปจีบกันที่บ้านต่อจนดึกจึงกลับบ้าน โดยในตอนเช้าไปทำไร่ทำนา ตอนกลับบ้านก็จะไปหาหลัวและนำหลัวกลับมาด้วย คำว่า " หลัว " เป็นภาษาพื้นบ้านของท้องถิ่นหมายถึง ฟืน ฟืนที่จะนำมาก่อไฟ นิยมใช้ไม้ไผ่ เพราะติดง่ายให้ความสว่างและมีสีนวลมากกว่าไม้ชนิดอื่น เมื่อถึงเวลาก็จุดกองไฟ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ของใครของมันมาวางรอบกองไฟ ของใช้จำเป็นในการทำงานระหว่างลงข่วง เช่น เสื่อ ไน กก ปอ เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจาการลงข่วงเข็นฝ้าย
1. ได้งานเพิ่มขึ้น การลงข่วงแทนที่จะมารวมกันเพื่อผิงไฟเฉย ๆ ก็นำเอางานมาทำด้วย เช่น การอิ้วฝ้าย การล้อฝ้าย การเข็นฝ้ายได้เส้นฝ้ายที่จะทอหูก ได้เสื่อกก เป็นต้น
2. ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อเกิดการเพิ่มเติมเสริมความรู้มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
3. ได้โอกาสสำหรับหนุ่มสาวที่จะได้พบปะพูดคุย หนุ่มต่างหมู่บ้านก็จะมาจีบสาวลงขวง รักใครชอบใครหลังจากเลิกข่วงแล้วก็จะตามไปพูดคุยต่อที่บ้านอีกครั้ง
4. ได้ฝึกฝนคำใช้ผญา คำสุภาษิตอีสาน เนื่องจากว่าการจีบกันในอดีตส่วนใหญ่จะมีการใช้คำผญา หนุ่มสาวจะจีบกัน บางคู่ได้เป็นคู่ครองแต่งงานกัน หรือที่เรียกว่า เป็นช่องทางให้หนุ่มสาวมาพบรักกันนั่นเอง มีการใช้อุปมาเปรียบเปรยเทียบเคียง ซึ่งศาสตร์และศิลป์ตัวนี้ไม่มีแล้วในทุกวัน คงเหลือแต่ตามรายการวิทยุที่มีการนำมาพูด และหาคำแปลมาด้วย
5. ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยเฉพาะเจ้าของบ้านที่มีข่วงต้องเป็นคนใจกว้างมีความเชี่ยวชาญในฝีมืออาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง การตักน้ำตักท่าไว้รอท่าผู้บ่าวก็เปรียบได้กับว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนต้องไม่ให้น้ำขาดอู่ ขาดแอ่ง (ภาชนะดินเผาสำหรับใส่น้ำดื่มน้ำจะเย็น)
6. เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในหมู่บ้านก่อให้เกิดความสามัคคี
7. ได้คู่ชีวิต บ่าวสาวหลายคู่ได้พูดคุยกันในการลงข่วง จนได้ตกลงปลงใจกันแต่งงานอยู่กันจนเป็นหลักเป็นฐานลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองจนถึงในปัจจุบันก็มี
8. พ่อแม่ได้สั่งสอนลูกสาวให้ฝึกงานฝีมือรู้จักเป็นแม่บ้านแม่เรือน ในการลงข่วงมีกิจกรรมหลายอย่าง ไม่เฉพาะมาเข็นฝ้ายเท่านั้น การรวมกลุ่มทำงานและสอนงานฝีมือสำหรับลูกผู้หญิงที่จะเป็นแม่บ้านในอนาคตโดยมีผู้รู้หรือชำนาญการในเรื่องนั้นคอยให้คำแนะนำและฝึกหัดปฏิบัติ เป็นกุลสตรี ฝึกฝนงานด้านหัตถกรรม การหาหลัวหาฝืนมาเพื่อหุงหาอาหาร ตระเตรียมเครื่องนุ่งห่ม ให้กับสมาชิกในครอบครัว