พระครูสุวรรณประชานุกูล สิริอายุ 42 พรรษา 18 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขากำแพง และเจ้าคณะตำบลดอนคา เขต 2
วิทยฐานะ น.ธ.เอก เปรียญธรรม 3 ประโยค
อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า กมลศิลป์ เจตนาเสน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2512 ที่บ้านเลขที่ 75 หมู่ 8 ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายประสิทธิ์ และ นางบุญทิน เจตนาเสน
ในช่วงวัยเยาว์ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดห้วยคู้สามัคคี ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ใช้ชีวิตฆราวาสจนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 3 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน 2534
หลังอุปสมบทได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2535 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักศาสนศึกษาวัดเขากำแพง ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2538 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักศึกษาวัดเสถียรรัตนาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ผลงานด้านการศึกษา พ.ศ.2542 เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดเขากำแพง ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2542 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักศาสนาศึกษาวัดเขากำแพง ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2542 เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง ประจำอำเภออู่ทอง
พ.ศ.2543 เป็นกรรมการอุปถัมภ์โรงเรียนบ้านเขากำแพง พ.ศ.2544 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมชั้นนวกภูมิ ณ วัดป่าเลไลยก์วรมหาวิหาร พ.ศ.2545 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงชั้นตรี ณ วัดไร่ขิง พ.ศ.2546 เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยนิวัฒนา
ลำดับงานการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2540 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขากำแพง พ.ศ.2541 เป็นเจ้าอาวาสวัดเขากำแพง พ.ศ.2547 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2546 เป็นเจ้าคณะตำบลดอนคาเขต 2
วันที่ 5 ธันวาคม 2548 ได้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม พระครูสุวรรณประชานุกูล
พระครูสุวรรณประชานุกูล ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา สนับสนุนทุกด้านในเรื่องการศึกษาของเยาวชน ด้วยเชื่อว่าถ้าประชาชนมีการศึกษาแล้วจะทำให้คนๆ นั้น มีโอกาสเป็นคนดี เป็นคนมีความคิด เป็นคนมีสติ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาของชมรมเพื่อนประชานุกูลศิลปินพื้นบ้านอีสาน มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์และเชิดชูเกียรติของศิลปินหมอลำอีสานไม่ให้ถูกลืมเลือนและถูกกลืนโดยวัฒนธรรมดนตรีสมัยใหม่ ท่านมีความเป็นห่วงว่าศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยเฉพาะหมอลำกำลังจะสูญหาย จึงให้การสนับสนุนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วยหรือตกทุกข์ได้ยากหรือการจัดหางานแสดงให้
พระครูสุวรรณประชานุกูล กล่าวว่า "อาตมามีความเป็นห่วงว่าศิลปินพื้นบ้านหมอลำ ซึ่งเป็นศิลปะเก่าแก่อันทรงคุณค่าของอีสานกำลังจะสูญหาย จึงได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและก่อตั้งชมรม เมื่อพวกเขามีที่พึ่งก็มีกำลังใจที่จะสืบทอดศิลปะแขนงนี้ ปัจจุบันมีการฝึกลูกหลานและเยาวชนรุ่นใหม่ให้สืบทอด ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติของหมอลำ และเพื่อให้ประชาชนได้ชื่มชมมีความรู้สึกหวงแหนศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง"
สำหรับการอบรมสั่งสอนญาติโยมทั่วไป ท่านเน้นเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ ยึดหลักคำสอนให้ปฏิบัติตามอย่างมีสติ
ท่านปรารภว่า "มนุษย์ต้องอยู่แบบธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเป็นต้นแบบการดำรงชีวิต ด้วยกติกาสังคม ทุกคนทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามายึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากกว่าเอาอารมณ์และกิเลสตนเองเป็นที่ตั้ง ในเมื่อยึดในคำสอนของพระพุทธศาสนาเดียวกัน เทิดทูนพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน มองด้านดี เทิดทูนในสิ่งที่ดีที่ถูก มองดูว่าคำสอนง่ายก็ง่ายมองดูว่ายากก็ยากทุกอย่างทุกสิ่งขึ้นกับการมองกับความศรัทธาในสิ่งนั้นๆ"