ประวัติวัดพระบาทปางแฟน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระบาทปางแฟน ได้ก่อตั้ง เป็นที่พักสงฆ์มาพร้อมกับหมู่บ้านปางแฟน เมื่อปีพ.ศ. 2442บริเวณแห่งนี้ แต่เดิมเข้าใจว่า เป็นวัดเก่าหรือเมืองโบราณ เนื่องมาจากในบริเวณนี้จะพบซากอิฐ เจดีย์ และของใช้โบราณต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการกล่าวขานว่า ในอดีตพ่อขุนเม็งราย ได้เสด็จมาเพื่อรวบรวม แว่นแคว้น น้อยใหญ่ให้เป็นปึกแผ่น ขณะพระองค์เสด็จมาถึงสถานที่แห่งนี้ได้หยุดพักตั้งค่ายทหาร พระองค์ ได้ทอดพระเนตรพบกับรอยพระพุทธบาท เข้าใจว่าเป็นรอยพระบาทพระพุทธเจ้า พ่อขุนเม็งราย ก็เกิดศรัทธา จึงได้นำสมบัติส่วนพระองค์ฝังบูชารอยพระบาท ที่ปรากฏอยู่ โดยบรรจุสมบัติไว้ใต้รอยพระบาท ซึ่งเป็นอุโมงค์แล้วปิดอุโมงค์ด้วยก้อนหิน จากนั้นจึงโปรดให้สร้างอาราม ให้พระเณรจำพรรษา และโปรดให้พระสนมฝาแฝดพระนามว่า "สร้อยสุนีย์-ศรีสุคณฑา" ธิดาเจ้าเมือง เชลียงอุปัฏฐาก พระอารามแห่งนี้ สืบไป จะเห็นได้ว่า ตรงประตูทางขึ้นวัดปางแฟน ชาวบ้านได้สร้างศาลเอาไว้ เรียกศาลพระแม่สองนาง เชื่อกันว่าพระนางทั้งสอง จะปกป้องรักษาสมบัติของพ่อขุนเม็งราย และวัดแห่งนี้ จากบันทึกของวัดทำให้ทราบว่า
มีพระสงฆ์ปกครองวัดดังนี้
ครูบาศิริชัย มหาเถร ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2442- พ.ศ.2445
ครูบาสิทธิเถร ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2445- พ.ศ.2447
ครูบาพรหมทอง ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2447- พ.ศ.2500
จากบันทึกดังกล่าว ทำให้คาดคะเน ได้ว่า วัดพระบาทปางแฟน แห่งนี้เดิม ทีสร้างขึ้นในสมัย พ่อขุนเม็งราย แต่ต่อมา วัดได้ร้างลงด้วยกาลของเวลา และขาดผู้อุปถัมภ์ เนื่องมาจากวัดแห่งนี้ อยู่ไกลจากความเจริญ การคมนาคมเป็นไปด้วยความลำบาก
วัดถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยของครูบาศิริชัย มหาเถร พอสิ้นยุคของครูบาพรหมทอง วัดก็ถูกปล่อยให้ร้างไปอีกครั้ง ไม่มีภิกษุจำพรรษา ในขณะนั้นมีชาวบ้านแค่ 3ครองครัว ต่อมาราวปี 2500โดยการปกครองของกำนันจู ได้มีชาวบ้านเพิ่มเป็น 9ครอบครัว แต่ชาวบ้านได้อาศัย วัดแม่หวานเป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่ก็ติดขัดที่ไม่สะดวก จากการเดินทาง ชาวบ้านจึง มีแนวความคิดที่จะจัดสร้างอารามขึ้นในหมู่บ้าน เป็นสถานปฏิบัติธรรม ทุกๆวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์เทศน์โปรดชาวบ้าน มีภิกษุสามเณร เวียนมาจำพรรษา
ยังอารามปางแฟนแห่งนี้ พ่ออุ้ยอ้าย สุดาคำ และ แม่อุ้ย จันทร์ สุดาคำ อายุ 84ปี บอกว่า เดิมแม่อุ้ย เป็นคนบ้านแม่ดอกแดง อ.ดอยสะเก็ด ต่อมาได้มาอยู่กินกับพ่ออุ้ยอ้าย เป็นคนบ้านสันป่าสักน้อย ขณะอายุได้ 22ปี และได้อพยพมาอยู่บ้านปางแฟน ตอนนี้บริเวณนี้
ยังเต็มไปด้วยที่นา เมื่อชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน ทำอาราม โดยมี สามเณรจากบ้านด้าย จ.เชียงราย มาบุกเบิกสร้างอารามราว 5ปี ต่อมาก็มีแม่ชีสองท่านซึ่งบวชเป็นชี
มาตั้งแต่อายุ 12ปี มีความเคร่งครัดในพระศาสนา ได้เดินทางมา ถึงบ้านปางแฟน ทั้งสองคือ แม่ชีเกณฑ์ และมีชีน้อย อายุประมาณ 20ปี ได้มาฝึกสอนวิชาชีพ ให้ชาวบ้าน
สอนให้ทอผ้า และร่วมกับชาวบ้าน สร้างวิหารหลังแรก และแม่ชีมักจะบอกกับชาวบ้านว่า สถานที่แห่งนี้ ศักดิ์สิทธิยิ่ง เพราะมักจะได้ยินเสียง ปี่ พาทย์ มโหรี ดังในวันพระเสมอ
แม่อุ้ยได้เล่าว่า นอกจากเสียงเพลงแล้วชาวบ้าน มักจะเห็นดวงไฟประหลาดเป็นแสงสีเขียว สีขาว ลอยมาจากดอยม่อนธาตุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอารามปางแฟนเท่าใด ดวงไฟ
มักลอยมาหาย ณ บริเวณอารามแห่งนี้ ขณะนั้น ยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่ามีสิ่งสำคัญประดิษฐ์อยู่ ชาวบ้าน จะเคยเห็นคุ้นเคยแต่เพียงว่าอารามแห่งนี้ มีก้อนหินก้อนหนึ่ง ใหญ่มาก
มีร้อยเท้าติดอยู่บนแท่นหินขนาดเท่าร้อยเท้าคน หนึ่งคู่ แต่ไม่ลึกมาก เวลาต่อมา พระครูมงคลศีลวงศ์ เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดในขณะนั้น ( พ.ศ.2529) ได้มาสำรวจสถานที่
เมื่อพระครูมงคลฯ ได้มาตรวจสอบรอยเท้าที่ปรากฏอยู่นั้น จึงทราบความจริงว่า เป็นรอยพระบาท อย่างแน่นอน ท่านเกรงว่ารอยพระบาทจะถูกเหยียบย่ำ และทำลายโดยรู้ไม่ถึงการณ์ จึงได้นำคณะร่างทรงในจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อแม่จันทร์มีสามีชื่อ พ่อเสริฐ บ้านอยู่แถวสันป่าข่อย จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับพระคูรมงคลฯ สร้างเจดีย์ครอบรอยพระบาท
แห่งนี้ไว้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา โดยได้จำลองแบบ มาจากเจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดีย ส่วนรอยพระบาทนั้น เพื่อเบนความสนใจของผู้ที่ประสงค์ร้ายจะมาทำลายรอยพระบาท จึงได้ทำใหม่ ขึ้นมาอีก 4รอย ตามที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อแม่ชีน้อย แม่ชีเกณฑ์ ได้ร่วมบูรณะอารามปางแฟนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ลากลับภูมิลำเนาเดิมของแม่ชีทั้งสอง ส่วนชาวบ้านได้เสาะหา พระผู้ปฏิบัติดี ประพฤติชอบ เพื่อจะได้มาจำพรรษายังอารามปางแฟน ขณะนั้นชื่อเสียงของ พระอาจารย์ สำเร็จ คุตตาโภ จากจังหวัดลำปาง เป็นที่กล่าวขาน ของประชาชนในเขต ภาคเหนือ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ ให้มาจำพรรษา ปกครองวัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529จนถึงปี พ.ศ.2538ท่านก็ลาสิกขา จากนั้นได้พระอาจารย์ ตี๋ สิริปุญโญ มาครองวัดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538ถึงปี พ.ศ. 2542
แต่ก็ครองวัดได้ไม่นาน ก็ถึงแก่มรณะภาพในปี พ.ศ. 2546เมื่อทางวัดปางแฟน
ขาดพระภิกษุไปอีกทำให้ชาวบ้าน รู้สึกหวั่นใจอย่างยิ่ง เพราะวัดแห่งนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า
มีสิ่งศักดิ์สิทธิเร้นลับ หากพระสงฆ์บารมีไม่พอ ไม่อาจปกครองวัดแห่งนี้ได้นาน
พ่อหลวงตั๋น ผู้นำหมู่บ้าน จึงประชุมเห็น ควรหาพระที่มีบุญบารมี มาปกครอง และทราบว่ามีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นพระดี มีวิชา เป็นคนเมืองแพร่ ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาโต จึงได้สืบเสาะจนพบและได้ร่วมกัน อาราธนานิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส
ท่านพระครูปลัดกฤต ฐิตวิริโย หรือครูบาโต ท่านยังไม่รับปากที่จะมาครองวัดในทันที โดยให้เหตุผลว่า หากเป็นวัดที่เจริญแล้ว จะไม่มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านอยากจะสร้างและบูรณะวัดด้วยกำลังความสามารถของท่านเอง และเมื่อได้มาเห็นสภาพของวัด ถือว่า
ยังขัดสนอยู่มาก จึงรับปากและได้มาพัฒนาวัด พระบาทปางแฟน ตั้งแต่วันที่ 11ก.ค. 2546จนถึงปัจจุบัน
วัดพระบาทปางแฟน เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างหลายสิบล้านบาท ปัจจุบันวัดพระบาทปางแฟน ตั้งอยู่เลขที่ 50 บ้านปางแฟน หมู่ 5 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บนเนื้อที่ 15 ไร่ทิศเหนือจรดภูเขา ทิศใต้จรดลำห้วยทรายคำ ทิศตะวันออกจรดถนนเชียงใหม่-เชียงราย ทิศตะวันตกจรดภูเขา สิ่งศักดิ์สิทธิประจำจังหวัดประกอบด้วยรอยพระบาท หลวงพ่อทันใจ หลวงพ่อเศียร ซึ่งขุดเจอเฉพาะเศียรฝังอยู่ในดิน ต่อมาท่านได้เข้านิมิตพระอาจารย์โต ให้ช่วยขุดตัวองค์พระ เพื่อมาต่อกับเศียร แรกๆท่านก็ไม่เชื่อ แต่อยากจะพิสูจน์ความจริง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้าน ให้ช่วยกันขุดตามที่นิมิต ก็พบความจริงจึงได้ทำการต่อองค์พระกับเศียร จนสมบูรณ์ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาจนถึงทุกวันนี้