จากตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ในอดีตเมืองง้าวเงิน ( อำเภองาว ) ปกครองโดยเจ้าแม่สุพกิจ (สัปปะกิ) ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่วัดศรีมุงเมือง (วัดพระธาตุตุงคำในอดีต) ซึ่งเป็นเมืองโบราณของเมืองเขลางค์(ลำปาง) เรียกชุมชนวัดศรีมุงเมือง และชุมชนบ้านใหม่ ต่อมา เจ้ากะระปัต ผู้ครองเมืองภูกามยาว (เมืองพะเยา) ซึ่งเป็นพี่ของเจ้าแม่สัปปะกิ ต่อมาเจ้ากะระปัตได้มาหาน้องที่เมืองง้าวเงิน(อำเภองาว)โดยขี่ม้ามาหยุดที่บ้านหนองเหียงและปลอมตัวเป็นขอทานมาขอข้าวกิน ฝ่ายเจ้าแม่สุพกิจ(สัปปะกิ)ได้เอาข้าวเน่าเสียให้เป็นทาน ทำให้เจ้ากะระปัตผู้พี่โกรธมากและได้นำข้าวเน่าไปทิ้งซึ่งบริเวณนั้นต่อมาเรียกว่า ห้วยข้าวเน่า อยู่ตำบลบ้านแหง และได้ส่งสารมาท้ารบกับเจ้าแม่สุพกิจ (สัปปะกิ) ฝ่ายเจ้าแม่สุพกิจ(สัปปะกิ)ได้รวบรวมผู้คนในเมืองง้าวเงิน ขุดคันคูเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก (ปัจจุบันคูเมืองอยู่ด้านหลังของบริเวณวัดศรีมุงเมือง) ต่อมาเจ้ากะระปัตได้ ยกทัพมาตีเมืองง้าวเงิน เจ้าสัปปะกิสู้รบเต็มความสามารถ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ทัพเมืองพะเยา เจ้าแม่สัปปะกิได้หลบหนีไปถึงบ้านน้ำจำ (บ้านดอนมูลในอดีต) และเจ้าเมืองพะเยาได้ติดตามมาจนถึงบ้านน้ำจำพยายามจะประหารเจ้าแม่สัปปะกิแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเจ้าแม่สัปปะกิในอดีตชาติ เคยช่วยเหลือหอยทากไว้ 2 ตัว ให้พ้นจากการถูกไฟไหม้ และต่อมาหอยทาก ทั้ง 2 ตัวได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ มองเห็นถึงความเดือดร้อนของเจ้าแม่สัปปะกิ จึงช่วยเหลือนางโดยปล่อยตุงลงมาให้เจ้าแม่สัปปะกิจับ และดึงขึ้นไปบนสวรรค์ เจ้าแม่สัปปะกิจึงรอดพ้นจากการถูกประหารชีวิต
จากตำนานและคำบอกเล่าดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้ตั้งเสาเพื่อปักตุงซาววาขึ้นที่บ้านน้ำจำ (ดอนมูล) โดยมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่เจ้าแม่สัปปะกิ หรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเองและครอบครัว หรือญาติมิตร ปู่ ย่า ตา ยายและให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ต่อมาหลวงพ่อวิฑิตธรรมคุณ และหลวงพ่อพระครูสิทธิญาณโสภณ ได้ย้ายเสาตุงซาววาไปไว้ที่ วัดม่อนทรายนอน หลังจากนั้นชาวบ้านอำเภองาว จึงได้ยึดถือเป็นประเพณีในการถวายตุงซาววา ในวันที่ 17 เมษายนและได้มีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกปี