โคมลม ทำด้วยกระดาษแก้ว หลาย ๆ แผ่นมาต่อติดกัน โดยใช้กาว และทำเป็นรูปทรงกระบอกมีปล่องทางด้านล่าง ใช้บรรจุควัน เพื่อทำให้โคมลมลอยขึ้นฟ้า
ประเพณีท้องถิ่นเก่าแก่ มีที่มาจากคติความเชื่อของชุมชนแห่งนี้ที่ว่าในช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่แต่ในวัด ไม่สามารถออกธุดงค์โปรดสัตว์ไปในที่ต่างๆได้ เป็นโอกาสให้ภูตผีปีศาจออกสร้างเหตุร้ายเภทภัยแก่ประชาชนในแถบนี้เป็นประจำทุกปี เทวดาอารักษ์ ที่สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์จึงลงมาปกปักษ์รักษาชาวบ้านในช่วงเข้าพรรษา ดังนั้นในช่วงที่ออกพรรษาราษฎรจึงมีการปล่อยโคมลม เพื่อส่งเทวดาอารักษ์เหล่านั้นกลับคืนสู่สวรรค์ และยังถือเป็นการปล่อยทุกข์โศก อัปมงคลต่างๆ ให้ลอยไปกับโคมลมด้วย นอกจากคติความเชื่อดังกล่าวแล้ว ราษฎรยังใช้ประโยชน์จากโคมลม ในแง่การสื่อสาร โดยการเขียนฎีกาบอกบุญต่างๆ เช่นการทำบุญบูรณะซ่อมแซมวัดที่ชำรุดทรุดโทรม หรือการจัดงานทำบุญในเทศกาลต่างๆ ผูกติดกับตัวโคมแล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อโคมลมไปตก ณ ที่ใดข่าวบุญก็จะแพร่สะพัดไปถึงที่นั้น
โคมลมมีลักษณะคล้ายถุงลมทำด้วยกระดาษบางๆลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยใช้อากาศร้อนจากควันที่ใส่เข้าไปพยุงตัวโคมให้ลอยขึ้น โคมลมจะมีขนาดใหญ่กว่าโคมไฟถึง ๑๐ เท่า แต่เดิมชาวบ้านเหล่านี้นิยมเล่นโคมไฟมากกว่าโคมลม ทั้งนี้โคมลมมีขนาดใหญ่ สร้างยาก นอกจากนั้นการปล่อยโคมลมมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าโคมไฟ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้ชาวพิบูลย์รักษ์หันมาเล่นโคมลมมากกว่าโคมไฟ หลวงปู่พิบูลย์ท่านมีความเห็นว่าการเล่นโคมลมและโคมไฟเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านถิ่นนี้ แต่การปล่อยโคมไฟมีอันตรายที่แฝงอยู่ เพราะไฟจากขี้ไต้ที่เป็นเชื้อเพลิงเผาให้เกิดอากาศร้อน อาจจะยังไม่มอดเมื่อตกถึงพื้น และหากลูกไฟดังกล่าวตกลงทุ่งนาของชาวบ้านที่มีข้าวสุกเหลืองเต็มทุ่ง หรือตกลงหลังคาบ้านเรือนซึ่งมุงแฝก ก็จะเป็นเหตุเกิดไฟไหม้ ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ หลวงปู่พิบูลย์ จึงแนะนำให้ชาวบ้านเล่นโคมลมซึ่งไม่มีอันตรายแต่เพียงอย่างเดียวแต่เดิมการปล่อยโคมลมเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านจัดขึ้นเอง มิได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันได้กำหนดให้การจัดงานโคมลมเป็นงานประเพณีระดับอำเภอ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ ประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี งานประเพณีโคมลม ถือว่าเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงของอำเภอพิบูลย์รักษ์ เพื่อพัฒนาอำเภอพิบูลย์รักษ์ให้เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียง ทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม จึงตั้งชื่อการจัดงานในปีนี้ว่า “ งานประเพณีโคมลมลอยฟ้า และผ้ามัดหมี่ย้อมคราม อำเภอพิบูลย์รักษ์” โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำรงไว้ซึ่งประเพณี และเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนชาวอำเภอพิบูลย์รักษ์ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ที่สำคัญประกอบด้วย กิจกรรมการแข่งขันและประกวดโคมลม มากกว่า ๒๐๐ ลูก ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย