ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 18° 49' 44.4174"
18.829004844328217
ลองจิจูด (แวง) : E 97° 56' 0.2787"
97.93341075362855
เลขที่ : 128203
ประเพณีเขาวงกต (หมั่งกะป่า) และปราสาท (กยอง) ๘ หลัง
เสนอโดย นายณัฏฐนนท์ สายประเสริฐ วันที่ 21 มีนาคม 2555
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 3 มกราคม 2556
จังหวัด : แม่ฮ่องสอน
1 1649
รายละเอียด

. สถานที่จัดงาน

วัดในหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจากไทยใหญ่เช่น วัดม่วยต่อ วัดเมืองปอน วัดต่อแพ วัดประตูเมือง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

๒. ช่วงเวลาที่มีการจัดงาน

ชาวไทยใหญ่จะจัดประเพณีเขาวงกตขึ้นในเดือนพฤศจิกายน หรือทางจันทรคติชาวไทยใหญ่เรียกว่า เดือน ๑๒ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑ ค่ำถึง ๑๕ ค่ำ แต่ส่วนใหญ่มักจะจัดในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันสุดท้ายของงานประเพณี

๓. ประวัติความเป็นมาและความเชื่อเกี่ยวกับงาน

คำว่า หมั่งกะป่า แปลว่า เขาวงกต ตามตำนานที่เล่าขานสืบมาของชาวไทยใหญ่กล่าวว่า
เมื่อครั้งพระโคตมพุทธเจ้ากำเนิดชาติเป็นพระเวสสันดร พระราชโอรสของพระเจ้าสัญชัย ผู้ครองนครเชตุดร มีช้างเผือกมงคล ๑ เชือก ในสมัยนั้นนครกลิงคราชประสบอาเพศ ฟ้าแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล พลเมืองอดยาก ยากไร้ เจ้าผู้ครองนครกลิงคราชโปรดให้พราหมณ์ไปขอช้างมงคลจากเมืองเชตุดร โดยมีพระประสงค์เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล เมื่อมีพราหมณ์ไปทูลขอพระราชทานช้างมงคลเชือกนั้น พระเวสสันดรได้บำเพ็ญทานบารมี บริจาคช้างมงคลให้พราหมณ์ไป บรรดาเสนาอำมาตย์พร้อมชาวเมืองเชตุดรเข้าเฝ้าพระเจ้าสัญชัยกราบทูลให้
ขับไล่พระเวสสันดรออกจากนครเชตุดร พระเวสสันดร พร้อมพระนางมัทรี เจ้าชายชาลี พระธิดากัณหาผู้เป็นพระมเหสี พระราชโอรสและพระราชธิดา เสด็จไปบำเพ็ญเพียรบารมีในป่า ระหว่างทางต้องผ่านเขาวงกต ซึ่งเป็นระยะทางไกลทุรกันดารมีหนทางคดเคี้ยวไปมา และอยู่ห่างจากพระนครมากจนชาวเมืองไปไม่ถึงท้าวสักกะเทวราชได้เนรมิตปราสาทขึ้น ๒ หลัง สระโบกขรณี ๑ สระ มีดอกบัวหลากสีออกดอกบานสะพรั่ง พระเวสสันดรประทับอยู่หลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งให้เป็นที่ประทับของพระนางมัทรี เจ้าชายชาลี และพระธิดากัณหา

ประเพณีเขาวงกต จึงเลียนแบบเขาวงกตซึ่งพระเวสสันดรไปบำเพ็ญบารมีในสมัยนั้นซึ่งมีปราสาทอยู่ในเขาวงกต แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปราสาท ๒ หลังมาเป็นปราสาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เป็นการสร้างจำลองปราสาทของพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นมาแล้ว ๔ พระองค์คือ ๑. พระพุทธเจ้ากุกสันโธ
๒.พระพุทธเจ้าโกนาคมน์ ๓.พระพุทธเจ้ากัสสปะ ๔.พระพุทธเจ้าโคตรมะและ ๕.พระศรีอริยะเมตไตย โดยเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติขึ้นมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าอีก ๑ พระองค์

ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นปราสาท ๘ หลัง โดยมีความเชื่อว่าเศรษฐีในสมัยนั้นสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้า โดยจำลองเหตุการณ์มาสร้างพุทธบูชาซึ่งตามพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า

หลังที่ ๑ ชื่อ เชตวรรณ์มหาวิหาร ตั้งอยู่ในกรุงสาวัตถี ในครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ ปรินิพพาน
ซึ่งเป็นวัดที่มหาเศรษฐีอนาถมิฑิกะ เป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๒ ชื่อ บุพผารามมหาวิหาร ตั้งอยู่ในชนบทแห่งกรุงพราณสี โดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา
เป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๓ ชื่อ เวฬุวรรณ์มหาวิหาร ตั้งอยู่ในชนบทแห่งกรุงราชคฤ พระเจ้าพิมพิสาลเป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๔ ชื่อ มหาวรรณ์มหาวิหาร ตั้งอยู่ในกรุงปาตะลีบุตร จิตตะมหาเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๕ชื่อ เมกกะทายะวรรณ์มหาวิหาร ตั้งอยู่ในป่าติดกับดินแดนแห่งกรุงมันลานครนันฑิยะ
มหาเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๖ ชื่อ กัณฑารมมหาวิหาร ตั้งอยู่ในกรุงเวส ลี โชติกะมหาเศรษฐีเป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๗ ชื่อ กุสินารามมหาวิหาร ตั้งอยู่ในกรุงโกสัมภี กากะวรรณะมหาเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย

หลังที่ ๘ ชื่อ นิโครธารามมหาวิหาร ตั้งอยู่ในกรุงกะบิลละภัท พระเจ้าสุทโทธานะ เป็นผู้สร้างถวาย

๔. ลักษณะปราสาทและเขาวงกต

ส่วนใหญ่จะสร้างเป็นปราสาทมียอดแหลมขึ้นไปหนึ่งยอด เรียกว่า “กยองยอด” ตั้งไว้บนสถานที่
ยกพื้น ด้านหน้าจะมีที่สำหรับจุดเทียน วางกระทงข้าวพระพุทธและวางดอกไม้บูชา

ลักษณะเขาวงกต ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกทำเป็นราชวัตรขนาดกว้างประมาณ ๓ นิ้วยาว ๑ เมตรหรือทำด้วยไม้สักขนาด ๒ นิ้วยาว ๑ เมตร ติดตั้งไว้สองข้างทางเดิน คดเคี้ยวไปมาตามแผนผัง มีทางเดินเข้าออกไปหาปราสาทที่ตั้งไว้ตรงกลางและตามมุมต่างๆในเขาวงกต ถ้าไม่เคยเข้าไปอาจจะหลงทาง ไปนมัสการพระพุทธไม่ครบทุกปราสาท

ประเภทเขาวงกต เขาวงกตในปัจจุบันมี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีปราสาท ๕ หลัง กับปราสาทพระอุปคุต และประเภทปราสาท ๘ กับ ประสาทพระอุปคุต หรือบางแห่งอาจยังได้อันเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งเป็นพระประจำวันไปประดิษฐานไว้ในซุ้มปราสาท เพื่อบุคคลทั่วไปได้นมัสการบูชาพระประจำวันเกิดของตนเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองอีกด้วย

. อุปกรณ์ในการสร้างปราสาทในเขาวงกต ประกอบด้วยดังนี้

๑) กาว ๒) ธูป ๓) กรรไกร ๔) เทียน ๕) ถาด ๖) ทรายและน้ำ ๗)ไม้ไผ่ ๘)ไม้อ้อ ๙) มีด
๑๐) ต้นหน่อกล้วย, หน่ออ้อย ๑๑)ดอกไม้ และ ๑๒) กระดาษสีหรือ กระดาษเงิน กระดาษทอง

๖. ขั้นตอนวิธีการในการสร้างปราสาทเขาวงกตประกอบด้วย ๙ ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ นำไม้หลักติดกับพื้นดินตามแบบแผนที่กำหนด และนำมีดเลาไม้ไผ่เป็นเส้นเล็กๆ และสานไม้ไผ่ลายขัดในรูปแนวเฉียงเพื่อทำเป็นช่องทางทั้ง ๒ ด้านในการเดินเข้าเขาวงกต

ขั้นตอนที่ ๒ พอสานเสร็จแล้วก็ใส่ตามแบบแผนว่าเป็นโครงสร้างตามแนวทางเขาวงกตทางโค้งซ้ายและ
ขวาทำช่องทางเดินไปเรื่อยๆ และจนเหมือนว่าเป็นทางเข้าเขาวงกต ในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว

ขั้นตอนที่ ๓ ติดของประดับในงาน เช่น ธงริ้วรูปเทวดาต่าง ๆ นำกรรไกรมาตัดแล้วนำกาวมาติดให้สวยงาม

ขั้นตอนที่ ๔ สร้างปราสาทหรือจองพาราสมมุติว่าเป็นอาศรมของพระเวสสันดรที่จะไปตั้งในเขาวงกต
ส่วนประสาทหรือจองพารานำกระบอกไม้ไผ่ใช้มีดเลาเป็นเส้นเล็กๆ แล้วออกแบบโครงสร้างปราสาทหรือจองพาราไว้ว่ามียอดของปราสาทหรือจองพารากี่ยอด และนำหน่อกล้วย หน่ออ้อย มาติดข้างๆ ประสาททุกหลัง

ขั้นตอนที่ ๕ พอทำโครงเสร็จก็นำกรรไกรตัดกระดาษทำเป็นหลังคาหรือยอดของปราสาท และนำกระดาษเงินและกระดาษทองทำเป็นยอดประสาทให้สวยงาม ในการทำยอดปราสาทเป็นแบบศิลปะลายไตทั้งหมด ทำส่วนยอดปราสาทมี ๗ ชั้น แล้วประดับประสาทให้สวยงาม ทำประสาทประมาณ ๕ หลัง

ขั้นตอนที่ ๖ นำพระพุทธรูปมาวางไว้ในตรงกลางของประสาทหรือจองพาราทั้ง ๕ หลัง นำปราสาทหรือจอง
พารามาตั้งไว้ในเขาวงกตที่สมมุติว่าเป็นอาศรมพระเวสสันดร

ขั้นตอนที่ ๗ นำปราสาทหรือจองพารามาตั้งไว้ ๔ มุม และตรงกลางในเขาวงกตอีก ๑ หลัง ทั้งหมดรวมเป็น ๕ หลัง แล้วประดับประดาให้สวยงามและติดหน่อกล้วย หน่ออ้อยที่ประสาททุกหลัง

ขั้นตอนที่ ๘ นำมีดมาตัดไม้อ้อเป็นกระบอกสั้นๆ ประมาณ ๙ กระบอก นำทรายและน้ำผสมกันใส่ลงในไม้อ้อที่ตัดให้สวยงาม

ขั้นตอนที่ ๙ นำดอกไม้ ธูป เทียน มัดรวมกันแล้วมัดรวมกับไม้อ้อที่ตัดไว้ ๙ กระบอกมัดให้สวยงาม แล้วใส่ทรายในถาดเล็กๆ แล้วนำไม้อ้อที่มัดกับดอกไม้ ธูป เทียน หรือเรียกกันว่ากระบอกน้ำ กระบอกทราย นำมาตั้งไว้ตรงกลางถาดที่มีทรายปักให้ตรง เพื่อจะนำไปบูชาพระพุทธเจ้าในเขาวงกตที่จำลองไว้

๗. การประกอบพิธีปอยหวั่งกะป่า

ภาคเช้ามีการถวาย “ก๊อกซอมต่อ” พร้อมดอกไม้ธูปเทียน ถวายข้าวพระพุทธกับพระอุปคุต และทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ สามเณรวัดต่าง ๆที่นิมนต์มารับอาหารบิณฑบาตในเขาวงกต นอกจากนี้ในวันเปิดงานอาจมีพิธีเปิดงานโดยพระสงฆ์ประมาณ ๙ รูป เป็นต้น

ภาคกลางคืนมีการจุดเทียนนมัสการพระพุทธและพระอุปคุต ซึ่งนำมาตั้งไว้ในปราสาทซึ่งเรียกว่า “กยอง” ตั้งไว้ตามมุมต่าง ๆในบริเวณเขาวงกต มีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้

- มักนิยมเริ่มงานเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป ศาสนิกชนผู้มาร่วมงานก็จะไปบูชากระบอกน้ำกระบอก

ทราย ดอกไม้ ธูป เทียนด้านหน้างาน โดยถวายปัจจัยเพื่อทำบุญกับวัดหรือภายในวัดแล้วแต่จิตศรัทธาที่ถวายเพื่อนำไปถวายพระที่อยู่ในเขาวงกตที่จะเข้าไปถวาย

- เมื่อบูชากระบอกน้ำกระบอกทราย ดอกไม้ ธูป เทียนแล้ว ก็เริ่มเดินเข้าเขาวงกตที่สมมุติว่าเป็นอาศรมของ
พระเวสสันดรเพื่อเดินทางไปถวายของให้กับพระแล้วแต่ว่าจะเข้าทางเขาวงกตซ้ายหรือขวา

- เมื่อเข้าไปในเขาวงกตที่สมมุติว่าเป็นอาศรมของพระเวสสันดร เมื่อถึงพระแล้วก็ถวายกระบอกน้ำกระบอกทรายและดอกไม้ ธูป เทียน ถวายให้พระ เมื่อถวายเสร็จก็รับพรจากพระแล้วก็เดินออกจากเขาวงกต

- ถ้าเขาซ้ายก็เดินทางออกขวา และถ้าเข้าทางขวาก็เดินทางออกซ้าย

- ความเชื่อของชาวไทยใหญ่ในอดีตกาลเชื่อว่าถ้าคนไหนหาทางออกเขาวงกตไม่เจอก็แสดงว่าไม่มีบุญ และถ้าคนไหนหาทางออกเขาวงกตเจอก็แสดงว่ามีบุญ

๘. ประโยชน์ที่ได้รับ

๑) ช่วยในการบูรณะซ่อมแซมวัด เนื่องจากวัดจะได้รับปัจจัยจากการบูชาธาตุทั้งสี่

๒) ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้รู้เรื่องราวพุทธประวัติ (พระเวชสันดรชาดก)

๓) ศาสนิกชนได้ถวายธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยเชื่อว่าเป็นศิริมงคลต่อชีวิต

๔) เป็นการสืบสาน รักษาประเพณีเขาวงกต (ปอยหวั่งกะป่า)ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

๕) เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

สถานที่ตั้ง
วัดม่วยต่อ
หมู่ที่/หมู่บ้านถนน ราษฎรบูรณะ
ตำบล ขุนยวม อำเภอ ขุนยวม จังหวัด แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายณัฏฐนนท์ สายประเสริฐ
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เลขที่ ๒๑๓ หมู่ที่/หมู่บ้านซอย - ถนน ราษฎรบูรณะ
ตำบล ขุนยวม อำเภอ ขุนยวม จังหวัด แม่ฮ่องสอน รหัสไปรษณีย์ 58140
โทรศัพท์ 053614417 โทรสาร 053614303
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่