ปัจจุบันโบราณวัตถุที่ค้นพบทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติ ศาสตร์ได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ถนนปราจีนอนุสรณ์ อำเภอเมืองฯ จะเปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ ๑๐ บาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดีประจำภูมิภาคตะวันออก เริ่มต้นตั้งแต่การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยเน้นการจัดแสดงที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นสำคัญ โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ชิ้นที่เด่นที่สุดในสายวัฒนธรรมทวารวดีอยู่ตรงทางเข้าภายในห้องจัดแสดง คือ ประติมากรรมลอยตัวรูปพระวิษณุจตุรภุช หรือพระวิษณุ ๔ กร ทำด้วยหินทราย สูง ๑๔๘ เซนติเมตร ศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พบที่เมืองศรีมโหสถ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมภาคตะวันออก สมัยทวารวดี เป็นประติมากรรมรูปเคารพเทพเจ้าสูงสุดของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพ นิกาย อันเป็นนิกายที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษ ๑๘ พบในบ่อน้ำหน้าอาคารรอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ แผ่นภาพสลักเล่าเรื่องศิลปะเขมรแบบบาปวน พ.ศ. ๑๕๖๐-๑๖๓๐ ทำด้วยหินทรายแดง ขนาด ๕๖.๕ x ๖๙ เซนติเมตร พบที่วัดพะเนียด จังหวัดจันทบุรี ศูล หรือตรีศูล ศิลปะทวารวดี ทำด้วยหินทราย สูง ๘๘ เซนติเมตร จากเมืองศรีมโหสถ และเศียรนาคสำริด ศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ. ๑๗๒๐-๑๗๗๓ รวมทั้งทับหลังศิลปะเขมรที่ยังมีลวดลายที่สมบูรณ์อีกหลายชิ้นด้วยกัน จึงอยากจะเชิญชวนผู้ไปท่องเที่ยวทางธรรมชาติของภาคตะวันออก หาโอกาสไปชมศิลปะโบราณวัตถุที่พิพธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ศูนย์รวมวัฒนธรรมภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดความภูมิใจในแผ่นดินไทยว่ามีอารยธรรมเก่าแก่เพียงใด