ผู้สร้างอาคารฟองฟลี คือ “จีนฟอง”หรือ เจ้าสัวฟอง ซึ่งได้รับสัมปทานป่าไม้ ป่าห้วยเพียนห้วยหลวงและป่าแม่อิฐ นอกจากนี้ยังได้เป็นเจ้าภาษี นายอากร ผิ่นและสุราของเมืองนครลำปางอีกด้วย เจ้าสัวฟอง จึงมีฐานะมีมากที่สุดในบรรดาชาวจีนในเมืองนครลำปาง อาคารฟองหลี เป็นอาคารขนมปังขิง ๑ ใน ๔ หลังของอาคารแบบขนมปังขิงที่เหลืออยู่ในจังหวัดลำปางในปัจจุบัน ลักษณะเป็นอาคารแถวขนานไปกับถนนสูง ๒ ชั้น ยกพื้นสูงจากถนนประมาณ ๑ เมตร มีความกว้าง ๑๖ เมตร ลึกประมาณ ๑๐ เมตร หลังคาจั่วตัดขวางแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องนอน มีระเบียงด้านหน้า มีเสาไม้รับระเบียงเรียงรายอยู่ทีทางเดิน ด้านล่างเป็นลักษณะอาคารแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลเข้ามาในสมัยนั้น บานประตูชั้นบนและชั้นล่างเป็นบานพับเฟี้ยมลูกฟักไม้สักแบบจีน เหนือช่องประตูเป็นช่องระบายอากาศ ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษา สวยงามแปลกตารูปครึ่งวงกลม ค้ำยันระหว่างพื้นชั้นสองและเสารายระเบียบด้านหน้า ทำค้ำยันฉลุประดับตกแต่งเสาเม็ดเล็กทแยงมุม นอกจากนั้นยังตกแต่งด้วยไม้สักฉลุลวดลายโปร่ง บริเวณราวระเบียงด้านบนและชายคาด้านหน้าผนังอาคารเป็นแบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก มีความหนาประมาณ ๔๐ ซม. มีการเสริมบัวหงายแบบฝรั่ง คาดระหว่างชั้นบนและชั้นล่างของภายนอกอาคาร ขอบหน้าต่างมีการทำคิ้วก่อบัวเป็นลายปูนปั้นแบบตะวันตกไว้เหนือหน้าต่างกันน้ำฝนย้อย หน้าต่างมีบานเกล็ดเพื่อให้ลมเข้า และสามารถเปิดกระทุ้ง หรือเปิดทั้งหมดได้ตลอดแนวเหมือนบานประตู มีการใช้บานพับ กลอน และเหล็กเส้นกับประตูหน้าต่าง อันเป็นวัสดุที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ส่วนการยึดไม้ใช้ระบบเดือยและสลัก มีการนำตะปูจีนมาใช้กับอาคารด้วย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไม้ ลักษณะที่เด่นที่สุดประการหนึ่งคือ ในส่วนของงานไม้ประดับตกแต่งทั้งหมด ไม่มีการทาสี บ่งบอกความเก่าของอาคารในยุคแรกของการก่อสร้างอาคารอิฐผสมกับไม้ มีสภาพดังเดิมตามแบบรูปถ่ายเก่า ระหว่างบูรณะอาคารได้พบ ตราบอมเมย์ –เบอร์เมย์ ซึ่งได้มาตั้งสาขาในจังหวัดลำปางปี พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงสันนิษฐานว่าอาคารฟองหลี น่าจะสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๔๔ อาจจะกล่าวได้ว่าอาคารฟองหลี เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมในยุครุ่งเรืองของจังหวัดลำปาง เป็นอาคารพื้นถิ่นที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า