การละเล่นดีดซีง เป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นเมือง สร้างความรื่นเริง บันเทิงใจ เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึงเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี 4 สาย แต่แบ่งออกเป็น 2 เส้น เส้นละ 2 สาย มีลักษณะคล้ายกระจับปี่แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม. กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม. ทั้งกะโหลกและคันทวนใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง ตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว จำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และ สายใหญ่ 2 สาย ซึงเป็นเครื่องดีดที่นิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ และ สะล้อ
ซึง ส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้ประดู่
แบ่งตามลักษณะได้ 3 ประเภท คือ ซึงเล็ก ซึ่งกลาง และซึงหลวง (ซึงที่มีขนาดใหญ่)
แบ่งตามประเภทได้ 2 ชนิด คือ ซึงลูก 3 และซึงลูก 4 (แตกต่างกันที่เสียง ลูก 3 เสียงซอล จะอยู่ด้านล่าง ส่วนซึงลูก 4 เสียงซอลจะอยู่ด้านบน)
ซึงเป็นเครื่องดนตรีของชาวไทยทางเหนือ และจะเล่นร่วมกัน กับสะล้อ โดยมีการซอบรรยาย พรรณณาเป็นเรื่องราว ประกอบกับวงปี่จุ่ม