ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 36' 0.5677"
8.6001577
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 18' 35.905"
99.3099736
เลขที่ : 133598
หลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวณฺโณ พระเกจิผู้สำเร็จวิชากำบังกาย และย่อระยะทาง
เสนอโดย ekarin วันที่ 2 พฤษภาคม 2555
อนุมัติโดย สุราษฎร์ธานี วันที่ 21 สิงหาคม 2556
จังหวัด : สุราษฎร์ธานี
25 11796
รายละเอียด

พระเกจิผู้สำเร็จวิชากำบังกาย และย่อระยะทาง หลวงพ่อเปี่ยม อดีตเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดวันศุกร์ เดือน 7 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2412 โยมบิดาชื่อหมื่นไกร โยมมารดาชื่อทิม เป็นคนพื้นเพเดิมบ้านโคกกรวด ตำบลทุ่งหลวง ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของพี่น้องทั้งหมด 4 คน เมื่ออายุ 17 ปี ได้บรรพชา ณ วัดเวียงสระ และเมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดหาดสูง ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหลวงปู่กราย คงฺคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูงในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อินทสุวณฺโณ มรณะภาพ ณ วัดทุ่งหลวง เมื่อวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 13 มกราคม 2499 เวลา 02.55 น. สิริอายุรวม 87 ปี 67 พรรษา จากคำบอกเล่าของนายเขียว บัวน้อย อายุ 90 ปี อดีตข้าราชการครูบำนาญ และอดีตสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเวียงสระ “วัดทุ่งหลวง” เดิมชื่อ “วัดโคกกรวด” เป็นวัดร้าง หลวงพ่อเปี่ยมได้เข้ามาบูรณะ และเปลี่ยนชื่อจากวัดโคกกรวด เป็น “วัดทุ่งหลวง” เนื่องจากบริเวณตั้งวัด ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกชื่อว่าบ้านทุ่งหลวง วัดก็ตั้งอยู่ริมนาทุ่งหลวง ตำบลที่ตั้งวัดก็ตำบลทุ่งหลวง เลยเปลี่ยนชื่อวัดโคกกรวด เป็น วัดทุ่งหลวง ตั้งแต่นั้นมา วัดทุ่งหลวงสมัยนั้นเจริญมาก เนื่องจากหลวงพ่อเปี่ยมเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นพระนักพัฒนา มีความคิดอ่านหลักแหลมยาวไกล และที่สำคัญท่านมีความเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ นายเขียว ยืนยันและเชื่อว่า หลวงพ่อเปี่ยม สำเร็จวิชาย่อระยะทาง เมื่อภารกิจไม่รัดตัวท่านจะออกธุดงค์ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และธุดงค์ไปย่างกุ้งและหลวงพระบาง สนทนาธรรมกับพระเกจิที่นั้น ๆ อยู่บ่อย โดยใช้เวลาครั้งละ 5 วัน 10 วัน ซึ่งสมัยนั้นเป็นการเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ หากไม่สำเร็จวิชาย่อระยะทาง ย่อมทำไม่ได้ และในสมัยนั้นผู้ที่มีความรู้ด้านนี้มีอยู่จริง อีกอย่างหลวงพ่อเปี่ยมไม่เคยเปียกฝน หากไม่ใช่วันพระ หลวงพ่อจะออกบิณฑบาตทุกวัน วันไหนฝนตก หลวงพ่อให้ศิษย์ที่ช่วยถือปิ่นโตเกาะชายจีวร แล้วออกบิณฑบาตตามปกติ จีวรท่านไม่เคยเปียกฝน ศิษย์ที่ถือปิ่นโตก็ไม่เปียก จะเปียกและเลอะดินโคลนบ้างก็มีเพียงเท้าเท่านั้น ชาวบ้านที่เคารพนับถือหลวงพ่อ และนิยมวิชาไสยศาสตร์ จึงฝากบุตรหลานให้มาศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก วัดทุ่งหลวงจึงเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา เป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แม้แต่คนต่างถิ่นก็ยังดั้งด้นเดินทางส่งบุตรหลานมาบวชเรียนที่วัดทุ่งหลวง “สมัยนั้นเป็นวัดบ้านป่า แต่มีพระเณรและศิษย์วัดเป็นร้อย มากกว่าวัดในเมืองเสียอีก” นายเขียวกล่าว

ถึงแม้หลวงพ่อเปี่ยมจะมรณภาพมากว่า 50ปี แต่ปฏิปทาของท่านมิเคยเสื่อมคลายจากชาวเวียงสระ แม้แต่น้อย ทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี ชาวเวียงสระ ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด จะกลับมาร่วมพิธีรดน้ำขอพรรูปหล่อหลวงพ่อเป็นประจำ หากปีไหนไม่สามารถมาร่วมในวันนี้ได้ ก็จะหาโอกาสมาในวันอื่นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มิเคยขาด พิธีนี้อดีตเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นของผู้ที่เคารพนับถือหลวงพ่อ แต่ปัจจุบันเทศบาลตำบลทุ่งหลวง โดยการนำของนายกเทศมนตรี นายสมศักดิ์ นวลแก้ว ได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ และบุคลากรอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้าร่วมพิธี ในวันนี้ นอกจากได้จัดพิธีรดน้ำขอพรรูปหล่อหลวงพ่อเปี่ยมแล้ว ยังมีพิธีบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน และบวชธรรมจาริณี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมพิธี ได้เช่าบูชาวัตถุมงคลหลวงพ่อเปี่ยมในราคาสมนาคุณพิเศษ ชาวอำเภอเวียงสระและอำเภอใกล้เคียงจึงมาร่วมพิธีนับหมื่นคน

สถานที่ตั้ง
วัดทุ่งหลวง
หมู่ที่/หมู่บ้าน 2/บ้านโคกกรวด ถนน 4009 (เวียงสระ - พระแสง)
ตำบล ทุ่งหลวง อำเภอ เวียงสระ จังหวัด สุราษฎร์ธานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นายเขียว บัวน้อย
บุคคลอ้างอิง นายเขียว บัวน้อย
หมู่ที่/หมู่บ้าน 2/บ่้านโคกกรวด
ตำบล ทุ่งหลวง อำเภอ เวียงสระ จังหวัด สุราษฎร์ธานี รหัสไปรษณีย์ 84190
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่