วัดประตูป่า ตั้งอยู่ที่ ๙๕ บ้านประตูป่า หมู่ที่ ๔ ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกายวัดประตูป่า สร้างราวปี พุทธศักราช ๒๓๐๑ ตามประวัติวัดได้กล่าวว่า ในเมื่อประมาณปี ๒๓๐๐ กองทัพพม่าได้ยกกองทัพมาตีในล้านนา เจ้าในฝ่ายใน พระสงฆ์ และชาวบ้านในเมืองหริภุญชัย ได้อพยพหลบภัยสงครามมาอาศัยอยู่แถบบริเวณลำน้ำปากลำเหมืองไม้แดง ตั้งอยู่เหนือเวียงหละปูน ต่อมาทั้งไพล่พล ข้าราชการฝ่ายในของหริภุญไชยได้ร่วมกันสร้างวัดร้างเดิม เหนือเวียงหริภุญไชย โดยมี ครูบาเหล็ก เป็นประธาน โดยเอกสารโบราณกล่าวถึงการอพยพเข้ามาของชาวยอง ในวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ (ราวเดือนเมษายน) ปี ๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละ ได้มอบหมายให้เจ้าคำฟั่น และบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องพร้อมบริวารจากเมืองลำปาง รวมถึงเจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และไพร่พลจากเมืองยอง(ปัจจุบันเมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในประเทศพม่า)นับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำจึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูน ได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่ง ในเมืองลำพูน ชาวยองที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่นี้ส่วนมากมาจากหมู่บ้าน ป่าม่วง จึงได้นำชื่อหมู่บ้านมาตั้งชื่อใหม่ และยังประกอบด้วยหมู่บ้านอื่น ที่อพยพเข้ามาอยู่พร้อมกัน เช่น บ้านหัวยาง บ้านบัว บ้านบาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ปรากฎชื่ออยู่ในเมืองยอง สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์การย้ายชาวยองมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ คือ ต้นมะม่วง หลากหลายสายพันธุ์ และได้ปลูกต้นมะม่วงไว้รอบวัด ต่อมาต้นมะม่วงที่ปลูกไว้เจริญเติบโตขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านประตูป่า ป่าม่วงจุมหัวเวียงหละปูน หรือป่าม่วงหลวง โดยมีชื่อมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองมากมายชนิด ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ต่อมาเหลือน้อยลง นับได้ว่าวัดประตูป่าแห่งนี้เป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน และเป็นสถานที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างบ้านเมืองของตนและการมาตั้งหมู่บ้านใหม่ของชาวยองได้เป็นอย่างดี