คลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองเรียกกันว่า“คลองโผงเผง”คำว่า โผงเผงหมายถึงการส่งเสียงร้องของช้างกันเอ็ดอึงในขณะหักยอดไม้กิน ( สนั่นเสียงสิงห์เสือเนื้อกวาง เสียงช้างหักพงอยู่โผงเผง ) จากเรื่องขุนช้างขุนแผน จึงเป็นที่มาของชื่อปากคลองโผงเผง ปัจจุบันเรียกคลองบางหลวงและไหลไปรวมกับแม่น้ำน้อยที่เทศบาลตำบลหัวเวียงอำเภอเสนา เนื่องจากคลองนี้เคยเป็นเส้นทางการเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๕ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เยี่ยมเพื่อนต้นบ้านนายช้าง(หมื่นปะฎิพัทธ ภูวนารถ)
จากหลักฐานตามพงศาวดารที่ปรากฏ คือ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีได้รับสั่งให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ทรงตั้งทัพชัยที่ตำบลม่วงหวาน(ปัจจุบันอยู่อำเภอบางบาล)จะไปตั้งรับที่สุพรรณบุรี เมื่อกระทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพีและตั้งทัพใกล้กับทุ่งป่าโมก กลางคืนทรงพระสุบินว่าน้ำท่วมมาแต่ทิศตะวันตก พระองค์ทรงลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่ง และเกิดการต่อสู้กัน พระองค์ทรงประหารจระเข้ตัวนั้นตาย โหรทำนายว่าพระองค์จะได้รับ ชัยชนะต่อข้าศึก จากข้อสันนิษฐานบริเวณวัดแห่งนี้มีชัยภูมิที่เหมาะสมในการจะนำช้าง ม้า เสบียงไพร่พลข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดในฤดูแล้งน้ำจะลดลงตื้นเขินเป็นหาดทรายสามารถเดินข้ามฟากได้สะดวก ด้วยเหตุนี้กล่าวได้ว่าบริเวณวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ