ประเพณีกวนข้าวยาคู (ข้าวมธุปายาสยาคู) ของชุมชนบ้านใต้ หมู่ที่ 2 ตำบลสีคิ้ว จัดงาน
ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นเดือนที่ข้าวในนากำลังออกรวงเมล็ดข้าวยังไม่แก่ กำลังเป็นน้ำนมข้าวสำหรับนำมากวนข้าวยาคู ภายในวัดเกาะ (สีคิ้ว) ซึ่งเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนชาวชุมชนบ้านใต้ โดยเริ่มพิธีเวลา 19.00 - 00.30 น. ถือเป็นงานประจำปีของชาวชุมชนบ้านใต้
ประเพณีกวนข้าวยาคู เป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดาถวายข้าว
มธุปายาสยาคู เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ พุทธศาสนิกชนในชุมชนมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญในเวลาที่ต้นข้าวออกรวงเป็นน้ำนม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ ผู้ได้รับประทานจะมีสมองดีเกิดปัญญา มีอายุยืนยาวสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใส และเป็นโอสถขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด ทั้งยังบันดาลความสำเร็จสมความปรารถนาในสิ่งที่คิดให้กับผู้ที่บริโภคด้วย
พิธีกรรมขั้นตอน ดังนี้
1. เตรียมบุคลากร ได้แก่ สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ต้องรับสมาทานเบญจศีลเพื่อความบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคลก่อนเข้าพิธีกวน แต่ละเตาจะใช้ผู้กวนเป็นจำนวน 3 คน
2. นิมนต์พระสงฆ์สำหรับสวดชัยมงคลคาถา พร้อมเครื่องใช้ในพิธีสงฆ์ เช่น ด้ายสายสิญจน์ โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้ที่ไม้กวน (ไม้พาย)
3. พิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์สวดชยันโตตั้งแต่เริ่มกวน
จนสวดจบถือว่าเสร็จพิธีซึ่งต่อไปจึงเป็นชาวบ้านใครจะกวนก็ได้
4. วิธีกวนข้าวยาคูจะกวนประมาณ 8 - 9 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ และจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา
พิธีกรรมกวนข้าวยาคู ทำให้เกิดความสามัคคี การปรองดอง ความพร้อมเพรียง ของชาวบ้าน ในการตระเตรียมเครื่องใช้และเครื่องปรุง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน แต่ละครั้งจะกวนข้าวยาคูประมาณ 4 กระทะ และต้องมีคนกวนข้าวยาคูอยู่ตลอดเวลาประมาณ 9 ชั่วโมง เมื่อกวนข้าวยาคูเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะนำไปถวายพระในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันขึ้น8 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันเทศน์มหาชาติ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีต่าง ๆ จึงแจกจ่ายชาวบ้านในชุมชนที่มาร่วมในพิธีให้ทั่วกันที่เหลือจัดส่งไปยังวัดต่าง ๆ และนำไปฝากญาติมิตร การแบ่งปันข้าวยาคูนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาคู ก็จะได้รับข้าวยาคูเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงทุกคน