“ล้อเกวียนและไม้เก่าของชุมชนบ้านน้อย” ปัจจุบันนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือหรือแม้แต่ภาคตะวันออกจะเห็นควายเทียมเกวียนน้อยมาก เนื่องจากชาวบ้าน หันไปใช้ควายเหล็กแทน หากนั่งรถผ่านไปจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 155 กิโลเมตร จะเห็นชุมชนบ้านน้อย ซึ่ง ตั้งอยู่ในตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคามบริเวณริมทางที่รถแล่นผ่านจะพบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากล้อเกวียนที่ชาวบ้านน้อยทำขึ้นเองโดยซื้อล้อเกวียนมาจากภาคต่าง ๆ ซึ่งล้อเกวียนของแต่ละภาคจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทางภาคตะวันออกเป็นล้อเกวียนอุ้มซุง จะมีลักษณะใหญ่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีลักษณะเล็ก เช่น เกวียนกระแทะ ซึ่งทำจากไม้ประดู่ ไม้มะค่า ของทางภาคเหนือจะทำจากไม้สัก ชุมชนบ้านน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2460 สภาพหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบ บ้านเรือนมีน้อยมากจึงเรียกกันว่า บ้านน้อย สมัยนั้นในชุมชนบ้านน้อยมีประมาณ 180 หลังคาเรือน ราษฎรในชุมชนบ้านน้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน ทำนา ปลูกผักไว้กินเอง มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกันระหว่างหมู่บ้านการเดินทางไปหมู่บ้านอื่นในสมัยนั้นต้องอาศัยเกวียนเป็นพาหนะวิถีชีวิตของชาวบ้านน้อยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อม ีถนนดินลูกรังเข้ามาในปี พ.ศ. 2512 การเดินทางสะดวกมากขึ้น ลักษณะการประกอบอาชีพเริ่มเปลี่ยนแปลง ราษฎรอพยพไปประกอบอาชีพต่างพื้นที่ เลิกประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำให้เกวียนซึ่งเป็นพาหนะในการเดินทางและการขนส่ง
สินค้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ชาวบ้านน้อยบางคนเริ่มมีความคิดริเริ่มโดยการนำเกวียนเก่า และไม้เก่า ๆ มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ตบแต่งบ้าน โดยทำเป็นลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์จากล้อเกวียนผู้ใหญ่แดง ปิ่นแก้ว อายุ 43 ปีเป็นคนแรกของหมู่บ้านนี้ที่ริเริ่มนำเกวียนเก่าๆ มาดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 ทำให้เกวียนเก่า ๆ ที่ไม่มีราคากลายเป็นของที่มีราคาและมีคุณค่า จากเกวียนเก่าเล่มละไม่กี่ร้อยบาทดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาหลายพันบาท เฟอร์นิเจอร์ในระยะแรก ได้แก่ ศาลาที่นั่งเล่น ชิงช้า ชุดรับแขก ศาลาทรงล้านนาต่อมามีการดัดแปลงจากทรงล้านนามาเป็นศาลาทรงไทย หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์เรื่อยมาจนในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ
อัตลักษณ์ (เอกลักษณ์) จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ไม้เก่าใหญ่และคงทนและงานละเอียด นอกจากนี้นำเกวียนจากหลายภาคทั่วประเทศมาผสมกัน และมีชื่อเรียกเฉพาะของผลิตภัณฑ์จากล้อเกวียนและไม้เก่า เช่น รัศมีเดือนมีขาฝักและขาดุม “ขาฝัก”คือ ขาโซฟาหรือขาโต๊ะเป็นฝักนำกงเกวียนมาประกอบ ส่วน “ขาดุม”นำดุมเกวียนมาทำเป็นขา