เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เดือน เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ เวลา ๐๒.๔๙ น. ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา เกิดที่บ้านเลขที่ ๒๑๑ หมู่ ๑๔ (เดิมเป็นหมู่ที่ ๘) บ้านมูลกระบือ ตำบลหนองคอนไทย จังหวัดชัยภูมิ เป็นบุตรคนเดียวของนายพันธ์ – นางสมพงษ์ นาหมุด
ชีวิตเมื่อเยาว์วัย
เมื่อมารดาของท่านคลอดท่านได้ประมาณ ๑๐ วัน มารดาของท่านก็มาเสียชีวิตลงที่บ้านโนนข่า ประมาณ ๒๐ นาฬิกาเศษ เนื่องจากมารดาของท่านไม่สบายไปหาหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น หลังจากตรวจรักษาเสร็จ มารดาของท่านก็ได้เดินทางกลับบ้าน ซึ่งในตอนนั้นการคมนาคมลำบากมากมากจึงไม่สามารถเดินทางกลับถึงบ้านได้ เพราะค่ำมืดก่อนแล้วก็ไม่มีรถที่จะเดินทางเข้าหมู่บ้าน ผู้เป็นสามีจึงได้ขออาศัยเกวียนของชาวบ้านโนนข่าซึ่งเขามาแต่ขายสินค้า เพื่อที่จะไปขอพักอาศัยที่บ้านญาติ ซึ่งพอไปถึงบ้านญาติมารดาของท่านก็มีไข้ขึ้นสูง ฝ่ายสามีจึงได้นำไปหาหมอธรรมประจำหมู่บ้านที่ผู้เฒ่าผู้แก่เขานับถือกันที่บ้านโนนข่า ตำบลหนองคอนไทย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในที่สุดมารดาของท่านก็เสียชีวิตที่บ้านโนนข่า หลังจากญาติพี่น้องทราบข่าวก็มีความเศร้าโศกเสียใจมากโดยเฉพาะผู้เป็นสามี ญาติพี่น้องก็ช่วยกันจัดงานศพตามประเพณี ทำพิธีฝังศพไว้ที่ป่าช้าบ้านโนนข่า ประมาณวันที่ ๒-๓ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒ จากนั้นญาติพี่น้องจึงปรึกษากันว่าเราจะนำทารกนี้ไปให้ใครเลี้ยงดู ในที่สุดก็ตกลงกันว่าให้ปู่และย่า น้าและอา เป็นคนเลี้ยงดู ส่วนปูและสามีคนที่ ๒ ของยายซาว นาหมุดชื่อว่ายายเหลา ชาญสิงห์ขอน ท่านเป็นคนบ้านโนนข่าท่านเห็นย่าในงานศพลูกสะใภ้ ก็สงสารเห็นทารกน้อยคงจะลำบาก ส่วนนายพันธ์ ผู้เป็นสามีเห็นสีภรรยาเสียชีวิตไปก็มีความโศกเศร้าเสียใจอย่างมาก ที่ภรรยาของท่านได้เสียชีวิตไปและท่านต้องมีภาระเลี้ยงดูทารกที่ยังเล็กๆ อยู่ ไม่รู้เดียงสาและในสมัยนั้นการทำมาหากินก็ลำบาก บ้านเมืองยังไม่เจริญ ในที่สุดด้วยความน้อยใจของท่านและความรักลูกของท่านจึงได้ถูกเพื่อนชวนไปหาเงินที่ผิดกฎหมายจึงถูกจับติดคุกถึง๗ ปี หลังจากนั้นทารกเล็กๆ ที่ปูและย่าตั้งชื่อให้ว่าเด็กชายสนั่น ที่ไม่รู้เดียงสาจึงตกเป็นภาระของปูและย่าพร้อมด้วยญาติๆ ที่จะเลี้ยงดูกัน ต่อมาหลังจากนั้นประมาณ ๕ ปี ปู่ปู่ของท่านก็มาเสียชีวิตลง จึงทำให้ย่าต้องแบกภาระด้วยความลำบากในการไปหาซื้อนมจากต่างจังหวัดมาให้กิน ย่าของท่านเคยพูดให้ท่านฟังว่า “บางวันไม่มีนมให้ท่านดื่ม ย่าของท่านก็ให้ท่านดื่มน้ำเปล่า และยิ่งไปกว่านั้น ย่าของท่านก็ยังมีลูกถึง ๘ คน ด้วยฐานะยากจนแถมหนำซ้ำฝนฟ้ายังไม่ตกตามฤดูกาลก็เลยเป็นเหตุให้ข้าวยากหมากแพง”
ท่านจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนบ้านมูลกระบือ หลังจากจบแล้วก็ออกมาเลี้ยงควาย(กระบือ)และทำนาช่วยย่า แต่ในใจของท่านอยากจะบรรพชาเป็นสามเณรให้แม่ เพราะว่าท่านมีนิสัยเมตตา ชอบทำบุญทำทาน แต่อีกใจก็คิดว่าถ้าท่านบรรพชาเป็นสามเณรแล้วใครจะเลี้ยงควาย(กระบือ)ช่วยย่าเพราะลูกๆของย่านั้นต่างก็แยกกันไปมีครอบครัวกันหมด ท่านก็เลยอยู่ทำนาช่วยย่ามาตลอด จนอายุได้ประมาณ ๑๘ ปี ท่านก็ได้ขอคุณย่าไปทำงานที่ภาคใต้เพื่อส่งเงินมาให้ย่าได้ใช้หนี้ ท่านได้ไปทำงานอยู่ประมาณ ๒ ปีก็เลยกลับมาบ้านมาทำนาช่วยย่าอีกระยะหนึ่ง จึงได้ขออนุญาติย่าไปทำงานที่จังหวัดชลบุรีเป็นระยะเวลาประมาณ ๑ ปีเศษๆ จึงได้กลับมาบ้านเพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหารซึ่งตอนนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๒๒ ปี และอีกอย่างที่ท่านกลับมาบ้านคราวนี้ท่านตั้งใจว่าจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ประมาณ ๗ วัน แล้วจะลาสิกขาแล้วว่าลงไปทำงานที่ภาคใต้อีกหลังจากที่ท่านได้ช่วยย่าทำนาเสร็จแล้ว แล้วความตั้งใจของท่านก็เป็นจริง ท่านอุปสมบท(บวช)เมื่อวันที่ ๑๔ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่วัดช้างพัง บ้านกุดหัวช้าง ตำบลหนองคอนไทย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมีพระครูโกศลธรรมนิเทศ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากทานอุปสมบทแล้วท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ต่อมาท่านจึงได้ลาท่านพระอุปัชฌาย์ขอไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรธานี หลังจากออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ลาท่านเจ้าอาวาสออกธุดงค์แสวงหาโมกธรรมตามภาคอีสาน เพื่อที่จะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่พอจะแนะแนวทางในการปฏิบัติ ท่านจึงเดินไปตามป่าเขา พักตามภูเขาบ้าง ป่าช้าบ้าง และในที่สุดจิตใจของท่านก็เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้น เอก ที่วัดศรีมงคล บ้านแสงสว่าง อำเภอ หนองแสง จังหวัดอุดรธานี ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ประมาณ ๕ พรรษา หลังจากนั้นท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์กลับบ้านเกิด โดยธุดงค์มาพร้อมกับพระภิกษุผู้เป็นศิษย์อีก ๓ รูป ซึ่งได้เดินธุดงค์มาทางจังหวัดสระบุรี มาเรื่อยๆ จนถึงภูตะเภา ตำบลกุดยม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จึงได้พักธุดงค์ ณ ที่นั้นเป็นเวลา ๗ วัน และท่านได้พูดกับลูกศิษย์ว่า “เราควรจะไปปลูกป่าที่ป่าช้าบ้านมูลกระบือ-บ้านหัวหนอง เพราะเป็นหมู่บ้านที่ท่านเกิด”พอได้เวลารุ่งสางท่านและพระลูกศิษย์ก็ได้เดินทางลงมาจากภูเขามาอยู่ที่ป่าช้าบ้านมูลกระบือ-บ้านหัวหนอง และได้เห็นป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกทำลายไปมากแล้วและที่ดินแถวนี้ซึ่งเป็นที่สาธารณะก็ถูกบุคคลผู้ไม่หวังดีบุกรุกเข้ายึดที่ที่ไปบางส่วน ซึ่งประกอบกับสถานที่แห่งนี้ก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านพอสมควรและเป็นสถานที่วิเวกสงบพอสมควร ท่านจึงตัดสินใจพักอยู่ ณ ที่แห่งนี้เรื่อยมา ซึ่งท่านก็ยังได้ปลูกป่าไม้ตามโครงการของทางราชการอีกด้วย พอท่านปลูกป่าเสร็จแล้ว ป่าไม้เจริญเติบโต ท่านก็ได้ชวนพระลูกศิษย์ออกธุดงค์ไปยังจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร จนถึงเวลาใกล้เข้าพรรษาท่านก็ได้ชวนพระลูกศิษย์ออกธุดงค์กลับมายังป่าช้าบ้านมูลกระบือ-บ้านหัวหนองอีครั้ง ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด พระลูกศิษย์ที่เดินทางมากับท่านคือ
๑. พระสมภาร ขนฺติธมฺโม
๒. พระนภา นิปฺปโก
๓. พระวี คุณธาโร
มาอยู่เริ่มแรกนั้น ลำบากมาก ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงชาวบ้านบังไม่เข้าใจในการปฏิบัติธรรมของพระป่าธุดงค์ และยังสร้างความไม่พอใจให้แก่บุคคลบางกลุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งสถานที่แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยอันตรายอันได้แก่ งูพิษต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการเดินทางออกรับบิณฑบาตก็ลำบากเพราะถนนยังเป็นทางลูกรัง การเดินทางก็เป็นไปด้วยความยากลำบากนอกจากนั้นชาวบ้านก็ยังไม่มีศรัทธาต่อพระที่มาพักอยู่ที่ป่าช้าก็เลยไม่ค่อยจะมีใครออกมาตักบาตรกัน ซึ่งในพรรษาแรกก็มีพระภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป สามเณรอีก ๑ รูป หลังจากออกพรราแล้วท่านก็ได้เริ่มโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งการปลูกป่าในแต่ละครั้งก็ได้ปลูกไม้นานาพันธ์เป็นจำนวนหลายพันต้นและต่อมาได้ขอตั้งเป็นที่พักสงฆ์ชื่อว่า “สำนักสงฆ์สิริราชทรงธรรม” และได้จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมบวชชี-พราหมณ์และจัดงานปริวาสกรรมตังแต่ปี ๒๕๓๙ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีญาติโยมให้ความอุปถัมภ์มาโดยตลอด และได้ขอแต่งตั้งวัดขึ้นทะเบียนให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย และทางกรมการศาสนาจึงได้ให้เป็นวัดที่ถูกต้อง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดศิริธรรมวนาราม” ได้เป็นวัดถูกต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๒๑ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๓ ถือว่าเป็นวัดใหม่และเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำตำบลหนองคอนไทยเรื่อยมา
ตำแหน่ง/หน้าที่
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านได้มาสร้างวัดศิริธรรมวนารามแห่งนี้
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดศิริธรรมวนาราม
ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศิริธรรมวนาราม
ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะตำบลหนองคอนไทย
ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลหนองคอนไทย
ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองคอนไทย
ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ท่านได้รับแงตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำตำบลหนองคอนไทย
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดชัยภูมิ แห่งที่ ๒๗
ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านได้รับพระราชทานเป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโท
นามว่า “พระครูสุวิชาธรรมนาถ”