"ไม้แส้เฆี่ยน" ในสมัยก่อนชาวบ้านในอำเภอคลองเขื่อนมีการเลี้ยงวัว ควาย เพื่อใช้ในการทำนา การบังคับวัว ควายที่ เป็นฝูง บังคับค่อนข้างยาก ชาวบ้านจึงหาอุปกรณ์ในการจะใช้บังคับฝูงวัว ควาย จึงได้ทำไม้แส้สำหรับตีหรือเฆี่ยนวัว ควาย พร้อมใช้เสียงกำกับเพื่อให้มันไปในทิศทางที่ต้องการ เช่น ในขณะไถนา หรือพาฝูงควายกลับบ้าน ในขณะเดียวกันสัตว์บางตัวบางชนิดไม่ต้องใช้ไม้ตี เราพูดเราบอกมันก็ยังทำตามได้เหมือนกันในบางเรื่องบางสิ่งบางอย่าง ไม้แส้เฆี่ยน มีลักษณะคล้ายกับไม้เรียว ซึ่งไม้เรียวนั้นมีลักษณะรูปร่างที่แข็งในช่วงต้นของไม้ และค่อย ๆ เรียวไปจนถึงปลายสุดของไม้เรียวนั้น ซึ่งมีความแข็งในช่วงต้นและอ่อนพริ้วไหวในช่วงปลาย เวลาตีผู้ตีก็จะสะบัดข้อมือตี โดยตีที่ก้นหรือน่องซึ่งจะทำให้ผู้ถูกตีนั้นมีอาการเจ็บและคันบริเวณที่ถูกตี ไม้เรียวกับไม้แส้เฆี่ยนของชาวบ้านนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป
“ไม้แส้เฆี่ยนของชาวอำเภอคลองเขื่อน จะทำจากกิ่งไม้ไผ่ ส่วนใหญ่จะใช้ไผ่สีสุก ที่กิ่งจะเล็กขนาดพอเหมะกับมือ
อุปกรณ์ กิ่งไม้ไผ่สีสุกขนาดพอเหมาะ , เชือกปอ , ขี้ยาง,ครั่ง,ชันยาเรือ
วิธีการทำ ๑. เมื่อได้กิ่งไผ่ขนาดที่ต้องการ จะทำการเหลากิ่งให้เรียบ ส่วนปลายที่เรียว จะฟั่น ข้อไว้ สำหรับผูกเชือกปอ
2. นำเชือกปอมาแช่น้ำ เมื่อได้ที่นำมาฟั้นเป็นเกลียว ให้ได้ความยาวที่ต้องการ
3. ใช้คลั่งหรือขี้ยางรนไฟให้นิ่มแล้วนำมาติดไว้ที่ปลายเชือก
4. นำเชือกปอที่ทำเสร็จแล้วมาผูกติดที่ปลายด้านเรียวของไม้ไผ่สีสุกที่เตรียมไว้แล้ว พร้อมกับเอาครั่ง ขี้ยาง หรือ ชันยาเรือ พอกลงไปเพื่อเพิ่มความแน่นหนาให้เชือกปอกับกิ่งไม้ไผ่
5. ทิ้งไว้ให้ชันยาเรือ/ขี้ยาง/ครั่ง แห้งสนิท แล้วถึงนำมาใช้
ปัจจุบันไม่มีการใช้ ไม้แส้เฆี่ยนในอำเภอคลองเขื่อนแล้ว เนื่องจากไม่มีการเลี้ยงวัว ควาย ไม้แส้เฆี่ยนจึงสูญหายไปมาก คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอคลองเขื่อนได้เล็งเห็นคุณค่า จึงได้ขอรับการบริจาคไม้แส้เฆี่ยน ซึ่งได้รับการบริจาคจาก นายเจียง นพรัตน์ ซึ่งอยู่ ม. 3 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีอยู่ นำมาเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอำเภอคลองเขื่อน เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้