มอม วัดพระธาตุผาเงา ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากตำนานโบราณว่าเป็นสัตว์พาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา ปรากฏในคัมภีร์มหาสมัยสูตร ระบุว่า เป็นเทพในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา โดยเป็นเทพบริวารของพระวรุณ เมื่อครั้งที่แค้วนโกศลประสบความแห้งแล้ง พระพุทธเจ้าทรงให้เทพปัชชุนนะเทวบุตรนำฝนมาให้ หรือเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นปลา เทพปัชชุนนะเทวบุตรก็ได้บันดาลฝนให้ตกลงมา ดังนั้น ชาวล้านนาจึงมีประเพณีขอฝน โดยการนำตัวมอมที่แกะสลักจากไม้ขึ้นเสลี่ยง เพื่อแห่ขอฝน แล้วใช้น้ำสาดให้มอมนั้นเปียกอยู่ตลอดเวลา เป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่ง ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นสัตว์เฝ้าศาสนสถาน
มอม เป็นสัตว์ผสมในตำนานที่มีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต หรือมีลักษณะครึ่งลิง ครึ่งเสือ รูปปั้นตัวมอม หรือสิงห์มอม จึงแตกต่างกันไปสุดแต่จินตนาการของช่างปั้น
ชาวล้านนารวมทั้งชนเผ่าไทยอื่นๆ นิยมสักลายเป็นรูปอักขระหรือรูปสัตว์ต่างๆ โดยเชื่อกันว่าจะอยู่ยงคงกระพัน รอดพ้นภัยอันตรายต่างๆ มีเมตตามหานิยม การสักยังเป็นเครื่องบ่งชี้ความอดทนและกล้าหาญของผู้ชาย โดยนิยมสักกันตั้งแต่บั้นเอวไปจนถึงขา ชายใดที่ขาไม่มีลายสักดังกล่าวจะไม่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิง โดยจะถือว่าชายนั้นไม่สามารถคุ้มครองหรือพึ่งพิงได้เมื่อร่วมชีวิต รูปสัตว์ที่นิยมกันได้แก่มอมหรือสิงห์มอมนี่เอง