ประวัติความเป็นมา
จากผู้เฒ่าเล่าสืบต่อกันมาในอดีตเมื่อชาวไร่ชาวนาได้ผลผลิตจากนาข้าวที่ปลูก เมื่อเก็บเกี่ยวสู่ขวัญข้าวเรียบร้อยแล้วระหว่างเริ่มว่างงานก็อยู่ในช่วงเดือนสิบ ชาวไทยลาวเวียงจะรักษาฮิต ๑๒ คล้ายกับภาคอีสาน รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด ถือโชคลาง ถือความเชื่อ ถือผีบรรพบุรุษยึดมั่นในพุธศาสนา จึงเชื่อกันว่า หลังจากได้ผลผลิตนาข้าวจะต้องนำข้าวใหม่มาหุงทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่เบื้องสูง เทวดา ฟ้า ดินที่คนทั่วไปได้เพาะปลูกข้าว พืชพันธุ์ต่าง ๆได้อยู่ได้กิน อุดมสมบูรณ์ และวันสำคัญที่เกี่ยวข้องที่จะมาถึงคือ บุญกลางเดือนสิบ บุญแก้ห่อข้าวสารทลาว บุญข้าวสาก เพ็ญเดือนสิบ ก่อนจะถึงวันบุญข้าวสาก ๒ –๓ วัน บ้านใกล้เรือนเคียงต่างรวมกลุ่มเครือญาติช่วยกันกวนข้าวตอก ใส่โอ่ง ใส่ไห ใส่กระบุง นิยมทำกันมาก ๆ เพราะ ๑ ปี จะกวนแค่ ๑ ครั้ง เท่านั้น พร้อมทั้งห่อแจกทานเพื่อนสนิทมิตรที่รักต่างบ้านอีกด้วย
ขนมกระยาสารท ขนมพญาสารท ขนมข้าวตอก ที่ชาวไทยลาวเวียง เรียกกัน ส่วนประกอบได้มาจากผลผลิตของชาวไทยลาวเวียงทั้งสิ้น ปัจจุบันบางคนนิยมซื้อจากท้องตลาดด้วยโลกมีการวิวัฒนาการขึ้น ส่วนประกอบมีถัว งา ข้าวเม่า (ข้าวพอง) ข้าวตอกแตกน้ำตาลอ้อย หรือน้ำตาลโตนด ปัจจุบันพัฒนามาใช้ผสมหัวกระทิ หรือผสมนมเนย ตามอัตราส่วนในอดีตไม่นิยม เพราะเก็บได้ไม่นาน คนไทยลาวเวียง ทำบุญข้าวสาก มีจุดประสงค์เป็นหนึ่งเดียวคือแสดงความกตัญญู ยึดมั่นในพุทธศาสนาและเป็นทาน
วันเพ็ญเดือน ๑๐ วันบุญข้าวสาก ต่างหาบคอน บ้างก็หิ้วปิ่นโต ตระกร้า ใบหน้าล้วนยิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายสวยงามตามไปด้วยเครื่องประดับตามที่มีอยู่ ปู่ ย่า ตา ยาย แต่งกาย ถือศีลอุโบสถ ฟังเทศน์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ๑ กัณฑ์ เพื่อให้สาธุชนได้ประพฤติปฏิบัติ รักษาจารีตประเพณี ฟังธรรม เรื่องบุญข้าวสาก เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในงานบุญนี้มาก ในวันนี้ชาวไทยลาวเวียง จะนำอาหารมาถวายพระสงฆ์ทั้งเช้าและเพล หลังจากพระฉันอาหารเพล ให้พร กรวดน้ำให้ผู้ที่ล่วงลับ จากนั้นคณะญาติจึงนำอาหารและข้าวห่อ ไปแก้ที่บริเวณวัดหน้าเจดีย์(ธาตุ) หรือใต้ตนไม้ใหญ่หรือข้างกำแพงวัดที่บรรจุอัฐิไว้ แล้วจุดธูปเทียน อันเชิญดวงวิญญาณมารับเครื่องเซ่นไหว้ และเชิญผีไม่มีญาติมาร่วมรับส่วนบุญด้วย เพราะวันนี้ เชื่อว่าเป็นวันที่พระยายมปล่อยให้ ออกมารับส่วนบุญ ปักธูปที่ห่อข้าวที่แก้ไว้ พอธูปใกล้หมดดอก แล้วจุดธูปกล่าวลา จึงกรวดน้ำ คนยากจน ก็จะมาหาเก็บอาหารนำไปกินเป็นการให้ทานอีกด้วย
คุณค่าของประเพณี
นับเป็นประเพณีที่มีคุณค่ามาก เป็นการรวมตัวของญาติพี่น้องจะได้มีโอกาสมารวมญาติพี่น้องกันอีกครั้ง และทำอาหารและขนมตอนรับ ขนมมักจะทำเป็นรูปแบบหรือประเพณีของบุญเดือนสิบ คือทำข้าวกระยาสารท หรือบ้างก็เรียกว่าข้าวพญาสารท มีส่วนประกอบหลัก ๆ คือ ข้าวตอกหรือข้าวตอกแตก ข้าวพอง ถั่งคั่ว งาคั่ว น้ำอ้อย
การสืบทอดประเพณี
แต่เดิม งานบุญสารทลาวนี้ จะมีการทำข้าวห่อกันทุกครัวเรือนด้วยว่าประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อสังคมพัฒนาหลายครอบครัวมิได้ทำนาดังแต่ก่อน แต่ก็ยังคงทำบุญนี้อยู่ข้าวที่เคยห่อด้วยใบตอง ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใส่ในภาชนะ เช่น ถาด ปิ่นโต หรือกระจาด พิธีกรรมการทำบุญเนื่องในวันสารทลาวชาวลาวเวียงก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
สถานที่จัด
ตำบลบ้านฆ้อง ตำบลบ้านเลือก ตำบลบ้านสิงห์ ตำบลดอนทราย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี