ประเพณีทอดกฐิน
ในสมัยโบราณภาคเหนือไม่ค่อยนิยมทอดกฐินกันอย่างในปัจจุบัน เนื่องมาจากการถวายกฐินเป็นงานใหญ่ ต้องตระเตรียมมาก โดยเฉพาะการเตรียมบริวารกฐินและการเลี้ยงดูญาติพี่น้องมิตรสหายที่มาร่วมงาน ผู้ถวายกฐินจะต้องเป็นคนมีฐานะดี มีเจตนา ศรัทธาแรงกล้า จึงจะถวายได้ การทำบุญกฐินในสมัยโบราณจึงมี่น้อย แต่การถวายกฐินนับเป็นประเพณีที่สำคัญ เมื่อผู้มีศรัทธาในหมู่บ้านผู้ใดผู้หนึ่ง มีเจตนาจะถวายกฐิน ประกาศให้รู้ด้วยการไปจองไว้ที่วัด จึงทำความชื่นชมยินดีแก่ชาวบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อคราวมีงาน จึงร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก
กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแต่การตัดเย็บ สมัยโบราณ เพราะช่างไม่มีความชำนาญ อีกทั้งผ้าไตรของพระภิกษุเป็นผ้าผืนเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ยากที่จะกำหนดกฏเกณฑ์ตายตัว การเย็บจีวรนั้น พระทั้งหลายก็จะมาช่วยกัน การเย็บจีวรนี้ แม้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ต้องช่วยกันทำหลายคน โดยความหมาย ผ้ากฐิน คือ ผ้าที่สำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง ผู้ทอดกฐิน คือ ผู้นำกฐินไปถวายแก่พระสงฆ์ องค์ครองกฐิน คือ ภิกษุผู้ได้รับผ้ากฐิน
การทอดกฐินในภาคเหนือ ได้แพร่หลายและนิยมทำกันทุกแห่งหนในปัจจุบัน ในคราวเทศกาลหลังจากออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า จีวรกาล ดังนั้น ถ้าใครจะทอดกฐินจะต้องทอดกฐินในระยะนี้ จะทอดก่อนหรือหลังไม่ได้ แต่จะมีข้อยกเว้นบางประการ
สำหรับอำเภอเกาะคา จะจัดงานทอดกฐินสามัคคีเป็นประจำปี ทุกปี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกองค์กร ทุกภาคส่วน คือ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน พ่อค้า และประชาชนทั่วไป เป็นอย่างดี