ตุ้มดักกุ้ง เป็นอุปกรณ์ในการดักจับกุ้งฝอย ตามห้วย หนอง คลอง บึง เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ไผ่, ตาข่าย-ไนล่อน, และเศษขวดน้ำดื่ม โดยการนำไม้ไผ่มาผ่าแล้วเหลาให้เป็นแท่งเหมือนไม้เรียว มีความยาวประมาณ ๑ ฟุตครึ่ง จำนวน ๔ แท่ง แล้วนำไม้ไผ่ที่เหลาขึ้นรูปเป็นวงกลม ๓ อัน ขนาดลดหลั่นกันเล็กน้อยมาผูกยึด แท่งไม่ไผ่ทั้ง ๔ แท่ง เข้าไว้ด้วยกันในระยะห่างเท่าๆ กัน หลังจากนั้นจึงนำตาข่ายไนล่อน มาหุ้มรอบๆ ตัวตุ้ม แล้วเจาะช่อง๔ ช่อง รอบตัวตุ้ม (บริเวณเหนือขึ้นมาจากตอนล่างของตัวตุ้ม ประมาณ ๓ - ๔ นิ้ว แล้วนำส่วนของคอ/ปากขวดนำดื่มพลาสติก ที่ตักไว้ มาเย็บติดเข้ากับช่องที่เจาะไว้ เพื่อให้เป็นทางเข้าไปกินเหยื่อของกุ้งฝอยที่จะเข้าไปกินเหยื่อล่อในตัวตุ้ม โดยไนล่อนด้านบนของตัวตุ้ม จะทำเป็นหูรูดเปิดปิดได้ เพื่อเป็นช่องทางในการนำเหลื่อล่อเข้าไปวางในตุ้ม และ-ใช้ในเวลานำกุ้งฝอยออกจากตุ้ม โดยในการวางตุ้มดักกุ้งฝอยนี้ จะนำตุ้มไปวางไว้ริมห้วย ริมหนองน้ำ ให้แท่งเสาทั้ง ๔ แท่ง ปักอยู่ในดินริมน้ำโดยให้น้ำท่วมตัวตุ้มประมาณ ครึ่งหนึ่งของตัวตุ้ม ปกติเหยื่อจะเป็นปลาร้า และข้าวเหนียวปิ้ง (หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าข้าวจี่) โดย- ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำตุ้มดักกุ้งฝอยอยู่ในปัจจุบัน ของบ้านนาคำน้อย ม. ๗ ต.บ้านก้อง อ.นายูง คือ นายทน เรือนนา ซึ่งท่านเริ่มทำตุ้มดักกุ้งฝอยมาได้ ๒ ปี แล้วโดยได้เรียนรู้มาจากผู้เฒ่าประจำหมู่บ้าน ที่รู้วิธีทำแต่ผู้เฒ่าคนดังกล่าว ชรามากและเลิกทำตุ้มดังกล่าวมานานแล้ว สำหรับตุ้มที่ผลิตได้จะขายในราคา ๓ ตัว ๑๐๐ บาท แม้นายทน จะมีลูกชาย ๒ คน แต่ก็ไม่มีลูกคนไหนที่จะเรียนรู้การทำตุ้มดัก-กุ้งฝอยไว้เลย