ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 3' 45.5072"
7.0626409
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 31' 17.4936"
100.5215260
เลขที่ : 146504
ขนมบอกโบราณ
เสนอโดย สงขลา วันที่ 17 กรกฎาคม 2555
อนุมัติโดย สงขลา วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
จังหวัด : สงขลา
2 785
รายละเอียด

“ขนมบอกโบราณ”เป็นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหาย“ขนมบอกโบราณ”ชื่อนี้อาจฟังดูไม่ทันสมัยกับยุคปัจจุบันนัก แต่เชื่อว่าหากใครได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติความอร่อยแล้วรับประกันได้ว่าไม่แพ้ขนมไทยชนิดอื่นแน่นอน โดยเฉพาะ“ขนมบอกโบราณ”สูตรน้ำน้อย ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งในตำบลน้ำน้อยมีเพียงเจ้าเดียวที่ทำอยู่ในขณะนี้ เลยอยากที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ขนมโบราณตัวนี้เอาไว้ให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป จึงได้ประสานไปยังคุณกัลญา อ้นเจริญ หรือพี่อู๋ ผู้รับช่วงสานต่อภูมิปัญญาการทำ“ขนมบอกโบราณ”ต้นตำรับที่ตกทอดกันมาเข้าสู่รุ่นที่ 9 ซึ่งคุณอู๋ บอกว่า“ขนมบอกโบราณ”เป็นขนมดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านประจำถิ่น โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่ขึ้นชื่อเป็นต้นตำรับความอร่อย โดยปัจจุบันหาลิ้มลองได้ค่อนข้างยาก แม้จะมีให้เลือกซื้อได้บ้างตามท้องตลาด แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบรสชาติ จนทำให้เอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเป็น“ขนมบอกโบราณ”หายไปด้วย สูตรของคุณอู๋ ไม่ธรรมดาเหมือนกับเจ้าอื่นเพราะทุกขั้นตอนการทำล้วนถอดแบบการผลิตจากต้นตำรับไทยแท้ ด้วยความตั้งใจบวกกับความหวังที่ต้องการรักษาเอกลักษณ์ของขนมไทยโบราณไว้ให้สมกับการได้รับการสานต่อเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

คุณอู๋ บอกว่า“ขนมบอกโบราณ”ของแท้ต้องทำด้วยกระบอกไม้ไผ่บาง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ความยาวของกระบอกก็เพียงคืบ โดยนำไม้ไผ่มาเป็นวัสดุในการทำขนมนั้น นอกจากเป็นข้อบ่งชี้หรือที่มาของ“ขนมบอกโบราณ”ซึ่งหมายถึงกระบอกไม้ไผ่แล้วยังมีข้อดีที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับความหอมของผิวไผ่ได้ด้วย เช่นเดียวกับความหอมของขนมก็ต้องมาจากน้ำตาลโตนดที่สดใหม่เท่านั้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ มะพร้าวที่นำมาคลุกโรยหน้าต้องเป็นมะพร้าวที่ขูดเองกับมือ “ภูมิใจตลอดที่กว่า 10 ปี ที่สืบทอดกิจการจากครอบครัว ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามาโดยตลอดด้วยความหวังที่ต้องการให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสได้ลิ้มลองความอร่อยจากต้นตำรับที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของครอบครัวที่ได้พยายามคิดค้นสูตรความอร่อยและดำรงชีพจากการขาย“ขนมบอกโบราณ”มานานกว่า 7 ทศวรรษ กระทั่งเป็นมรดกตกทอดมาสู่รุ่นที่ 9” คุณอู๋กล่าวด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความสุข

ขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่เน้นความเป็นโบราณทั้งรสชาติและวัสดุที่ผลิต โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่นำมาเป็นวัสดุหลักที่อาจยุ่งยาก เพราะต้องเปลี่ยนทุก 3 เดือน เพื่อให้ได้กลิ่นหอมไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ คุณอู๋ต้องเลิกหรือเปลี่ยนใจไปใช้วัสดุชิ้นใหม่ที่ง่ายและสะดวกแต่อย่างใด หากแต่ยังมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปด้วยความตั้งใจ ทำให้กลายเป็นจุดเด่นที่มีลูกค้าติดใจรสชาติกระทั่งตามไปอุดหนุนทุกหนทุกแห่งที่มีการออกร้าน แม้แต่ชาวต่างชาติ เช่นฝรั่ง มาเลเซีย ไม่พลาดที่จะซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากให้กับครอบครัว

การทำได้ง่าย ๆ แค่เตรียมอุปกรณ์ ส่วนผสม ซึ่งประกอบด้วย แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว น้ำตาลโตนด น้ำตาลทราย มะพร้าวขูด ส่วนวิธีทำเริ่มจากการนำแป้งข้าวเหนียว ผสมกับแป้งข้าวจ้าว ในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมน้ำตาลโตนดหมักทิ้งไว้ 1 คืน ขั้นตอนนี้หากอยากเพิ่มสีสันให้ขนมทำได้โดยผสมสีธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัญ สีแดงจากแก้วมังกรแดง เมื่อได้แป้งแล้วนำใส่กระบอกที่เตรียมไว้ก่อนนำไปนึ่งราว 5-10 นาที จากนั้นใช้ไม้ไผ่ซึ่งมีความยาวเหมือนตะเกียบกระทุ้งออกมาจากกระบอกคลุกผสมกับเนื้อมะพร้าวขูดก่อนโรยหน้าด้วยน้ำตาลทราย” คุณอู๋แจง พร้อมระบุว่า ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นกอบเป็นกำ ทว่ากว่าจะได้มาซึ่งรสชาติความอร่อยของ“ขนมบอกโบราณ”สูตรน้ำน้อยของแท้ เหนือสิ่งอื่นใดต้องใส่ใจตั้งใจทำทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงไม่แปลกนักว่านับวันจะหาลิ้มลองได้ยาก ยกเว้นสูตรน้ำน้อยที่ขึ้นแท่นเป็นเจ้าเดียวที่หลงเหลืออยู่ในอำเภอหาดใหญ่
“ปัจจุบัน นอกจากจะขายตามตลาดนัดแล้ว ยังรับออกงานด้วย เพราะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนติดต่อให้ไปแสดงให้ชมและชิม ซึ่งถือว่าเป็นการเผยแพร่ให้รู้จักขนมบอกโบราณ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจะซื้อ เพราะขนมมีความคล้ายกับขนมพื้นบ้านของมาเลเซีย ที่ผ่านมาทางฝ่ายวัฒนธรรรมอำเภอหาดใหญ่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา เชิญให้ไปแสดงตามงานวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด รวมถึงงานสยามไทยมุง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ให้สังคมทั่วไปได้เห็นขนมโบราณของชาวสงขลา โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 32/3 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1
ตำบล น้ำน้อย อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัด สงขลา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นางกัลญา อ้นเจริญ
บุคคลอ้างอิง นางเจือทิพย์ อารมณ์
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา
เลขที่ 10/1 ถนน สุขุม
ตำบล บ่อยาง อำเภอ เมืองสงขลา จังหวัด สงขลา รหัสไปรษณีย์ 90000
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่