นายหย๊ะยา มะดือเร๊ะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำผ้าบาติก ตั้งอยู่ศูนย์ฝึกอาชีพญาดา ๑๔ บ้านบึงฉลาม หมู่ที่ ๑๐ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ประธานกลุ่มนางยูไนดา มะดือเร๊ะ
ประวัติ
ผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติกมีแหล่งกำเนิดจากที่ได้ยังไม่เป็นข้อยุตินักวิชาการจากยุโรปบางกลุ่มเชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียแล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในประเทศอินโดนีเซียบางกลุ่มเชื่อว่าแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศอียิปต์หรือเปอร์เซีย แต่มีนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า "ผ้าบาติก" ดั้งเดิมมาจากชาวชวาจากศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก ยืนยันศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกนั้นเป็นภาษา "อินโดนีเซีย" จากการศึกษาค้นคว้าของนาย N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ชาวดัสท์ ได้สรุปไว้ว่า การทำโสร่งปาเต๊ะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะมาติดต่อค้าขายกับชาวอินเดีย คนไทยรู้จักผ้าปาเต๊ะในชื่อว่า "ผ้าบาติก" คนรุ่นเก่าเรียกผ้าปาเต๊ะที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยว่า "ผ้าจาวอ (Java)" หมายถึงผ้าของชาวชวา ผ้าจาวอ มีชื่อเรียกตามลักษณะของผ้า เช่น จาวอตูเลส (Javatulis) ใช้เรียกผ้าปาเต๊ะที่ใช้เทคนิคการเขียนเทียนด้วย "จันติ้ง" ตลอดทั้งผืน (จันติ้ง คือเครื่องที่ใช้เขียนขี้ผึ้งด้วยมือ) จาวอบือเละ คือ ผ้าพันชวา เป็นผ้าที่มีความยาวประมาณ ๓.๕-๔ หลา ลักษณะของผ้าไม่มีการเย็บตะเข็บผ้าให้ติดกัน แต่จะใช้นุ่งแบบพันรอบตัว จาวอซือแปะ คือผ้าชวาตราดอกจิกเป็นผ้าถุงคุณภาพดี มีตราดอกจิกเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในผู้มีฐานะดี ปัจจุบัน ผ้าปาเต๊ะ หรือ บาติก ได้แพร่หลายเป็นที่นิยมกันอย่างมากสามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม เสื้อ และอื่นๆ มีเทคนิคในการผลิตหลายแบบ เช่น เทคนิคการเขียนด้วยมือ (Batik Tulis) จัดเป็นผ้าบาติกชั้นสูง จะใช้เขียนเทียนด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "จันติ้ง"(Canting) มีลักษณะคล้ายปากกาลูกลื่น ตรงปลายเป็นกรวยเพื่อใส่น้ำเทียนให้ไหล การเขียนเทียน ต้องเขียนทั่วทั้งผืนและขณะที่น้ำเทียนกำลังร้อนๆ ไหลซึมลงไปในเนื้อผ้าส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้เขียนเทียนก็คือ พื้่นที่ที่ใ้ช้สีลงตามแบบที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงนำผ้าไปต้มเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกผ้าปาเต๊ะลายพิมพ์ (Mem Batik Cap) จะใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ ทองแดง หรือโลหะ โดยการใช้แม่ พิมพ์จุ่มเทียนที่กำลังร้อนพอเหมาะพิมพ์ลวดลายบนผ้าจากนั้น จึงแต้มสี หรือนำไปย้อมต่อไป เอกลักษณ์และจุดเด่น ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกเป็นภูิมิปัญญาท้องถิ่นที่มีรูปแบบผสมผสานเกี่ยวข้องในเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน ผ้าบาติกเป็นผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ สีของผ้าไม่ซีดไม่ตก ผ้าไม่กินตัว มีความสวยสดอยู่เสมอ เส้นเทียนสวยกลมกลืน รูปแบบการเขียนลวดลายจะเขียนด้วยมือทุกชิ้น ทำให้รูปที่เขียนจะไม่ซ้ำกันผ้าแต่ละชิ้นจะเป็นลายที่มีหนึ่งเดียวในโลก การเขียนเส้นทอง เส้นเงิน เส้นสะท้อน แสงเส้นสีดำ ทำให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบใช้เทคนิคในการเขียนลวดลายลงบนผ้า เช่น เพิ่มลายกราฟฟิกผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมแต่ก็ยังคงอนุรักษ์ลักษณะที่เด่นๆ ของผ้าบาติกไว้ ผ้าบาติกในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบแปรรูป ดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันตัว ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม เสื้อผ้าบุรุษและสตรี กางเกง กระโปรง ฯลฯ