หลวงพ่อเสือ วิรุฬฺหผโล อดีตเจ้าอาวาสวัดสามกอ ต.สิบเอ็ดศอก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดที่บ้านวัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2421 บิดาชื่อแสวง มารดาชื่อเปลี่ยน นามสกุล “ยิ้มอยู่”อาชีพชาวไร่ และดำรงชีพอย่างสัมมาทิฐิ กล่าวคือมีนิสัยใจคอและมีใจเป็นกุศล เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อไปวัดนำพาบุตรไปวัดเพื่อฝึกอบรมให้พบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเสมอๆ ครั้นเมื่อหลวงพ่อเสืออายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหลวง หรือวัดประสาทโสภณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน จากนั้นได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์อยู่ราว 3 เดือน ก่อนแยกทางกับอาจารย์ ก็ได้ย้ายกลับมาวัดบ้านเดิม(คือวัดหลวง) ซึ่งท่านได้ธุดงค์เพียงลำพังไปเรื่อย ๆ ในแถบภาคอีสาน ภาคเหนือจนทะลุเข้าสู่เขตแดนพม่า ไปพบวัดโชติการาม ซึ่งดูเหมือนเป็นวัดรกร้าง แต่ภายในวัดกลับเต็มไปด้วยสรรพตำราทั้งภาษาพม่า อังกฤษ เยอรมัน เป็นตำราสอนทั้งปริยัติและการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งภายในวัดนี้ท่านได้พบพระอาจารย์ โชติ กะธัมมจริยะ เมตตาให้คำแนะนำชี้ทางปฏิบัติธรรมให้เป็นพิเศษ ประกอบกับช่วงนั้นท่านมีอายุครบบวช จึงขออุปสมบทกับพระอาจารย์โชติ และอยู่ศึกษาปฏิบัติเป็นเวลา 6 เดือน ก็กราบลากลับสู่วัดหลวงให้พระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้อีกครั้ง
จากนั้นจึงธุดงค์ไปดินแดนพม่าปักกลดอยู่ที่วัดซันคยองวิหาร ได้รับการอุปถัมภ์บำรุง แนะแนวการปฏิบัติ จากท่านเลตีสยาตอมหาเถระ ปราชญ์ทางศาสนาที่เลื่องลือในยุคนั้น ศึกษาอยู่พอสมควรก็เดินทางต่อไปยังอินเดีย เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน 4 แห่ง และต่อไปยังลังกาเพื่อศึกษาสรรพความรู้ในคัมภีร์พุทธศาสนา โดยมีท่านญาณโปนิกมหาเถระให้คำชี้แจงแนะนำ เมื่อกลับจากลังกาได้ธุดงค์กลับมาทางภาคเหนือปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำเชียงดาว 3 ปี แล้วเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ ดั้นด้นมาจนถึง “ดอยปุย” อยู่ช่วยสงเคราะห์ชาวเขา อาทิ แม้ว มูเซอ ให้พ้นจากภูตผีและมนต์ดำ นานถึง 9 ปีเต็มจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ชาวแม้วชาวภูเขาที่เป็นผู้ใหญ่เรียกท่านว่า “เจ้าพ่อเสือ”ส่วนเด็ก ๆ เรียกท่านว่า “ปู่เทพ” และเมื่อท่านจากไป ชาวเขาดอยปุยก็ตั้งศาลเป็นที่ระลึกโดยสร้างเป็นศาลทรงไทย ใช้เสา 4 ต้น บันได 7 ขั้น แถมยังมีรูปปั้นเป็นของหลวงพ่อเสือในท่านั่งสมาธิสูง 3 ฟุต ตั้งไว้สักการะ มีโซ่ล้อมรอบ และตาลปัตรวางไว้ข้าง ๆ
หลวงพ่อเสือท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ปัดเป่าทุกข์โศกให้ญาติโยม จนชาวบ้านต่างอยู่กันอย่างมีความสุข สิ่งไม่ดีที่เคยปรากฏเป็นประจำก็อันตรธานหายไปหมดสิ้น ท่านมีเมตตามาก ขนาดรับกิจนิมนต์ไปยังที่ใด ขากลับญาติโยมถวายปัจจัยและสิ่งของต่าง ๆ พอมาถึงวัดท่านจะเรียกชาวบ้านที่ยากจน เป็นผู้เฒ่าแก่มารับของจากท่านไปจนหมด ท่านเก่งทางน้ำมนต์อย่างมาก ใครมีโรคภัยไข้เจ็บอะไร เอาน้ำมนต์ไปกินรับรองว่าหายขาด ขนาดคนเป็นถึงขั้นแก้ผ้าแก้ผ่อน ต้องช่วยกันจับมัดลากจูงมา พอท่านเอาน้ำมนต์ให้กิน พรมไปที่หัว 3 ครั้ง กลับมีสติเหมือนคนธรรมดาน่าอัศจรรย์จริง ๆ หมาบ้ากัดท่านก็มียาดี ขนาดพิษสูงถึงขั้นหอน ท่านก็ยังเอาอยู่
และในปี พ.ศ. 2483 ช่วงสงครามอินโดจีน ทางราชการได้นิมนต์พระผู้มีคุณวิเศษ 109 รูป เพื่อกระทำการปลุกเสกเครื่องมงคลที่เรียกว่า “แหวนมงคล” ที่วัดราชบพิธ เพื่อแจกจ่ายแก่ทหารหาญที่ถูกเกณฑ์ไปรับใช้ชาติ และ 1 ใน 109 รูปก็มีหลวงพ่อเสืออยู่ด้วย
หลวงพ่อเสือท่านได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวบ้านมาจนอายุเกือบ 80 ปี โดยก่อนมรณภาพ 4 วันท่านได้สั่งลูกศิษย์ห้ามรบกวนเป็นอันขาด เพราะจะใช้เวลาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ วิปัสสนากรรมฐานเพียงองค์เดียว ไม่ว่าญาติหรือแขกใครไปมาทั้งนั้น เมื่อครบ 4 วันแล้วค่อยมาเรียกกันใหม่ เมื่อสั่งเสร็จท่านก็เข้ากุฏิปิดประตูแน่น ไม่ออกมาฉัน หรือมาถ่ายใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งครบกำหนด 4วัน คือ วันที่ 30 ธ.ค. 2498 พระลูกศิษย์จึงไปเคาะประตูเรียก แต่ไม่มีเสียงตอบ เมื่อขยับประตูดูรู้ว่าไม่ได้ลงกลอน จึงเปิดประตูเข้าไปพบท่านนอนตะแคงขวาเหมือนหลับ โดยมีตาลปัตร บาตร ตั้งอยู่ข้าง ๆ สังฆาฏิก็พาดไว้เรียบร้อย ตรงหน้ามีกระดาษเขียนข้อความไว้ว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”ซึ่งมีเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์คือ ขณะท่านดับขันธ์นั้น ท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกตั้งเค้าว่าจะมีฝน จู่ ๆ ก็ตกลงมาอย่างแรงประมาณ 15 นาทีก็หยุดหายไป เมื่อพูดถึงฝน ก็เป็นที่กล่าวกันว่า ตลอดชีวิตของท่านนั้น มักมีสิ่งอัศจรรย์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ เช่น วันเกิดทุกปี จะมีผู้คนล้นหลามไปรอสรงน้ำด้วยความเคารพ พอท่านเดินลงมาจากกุฏิเพื่อรับการสรงน้ำ ทั้งที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเค้าฝนแต่ฝนจะตกลงมาในระยะนั้นทุกครั้งทุกปี ตามปกติจะไม่มีใครเคยเห็นท่านสรงน้ำ แต่ศิษย์ใกล้ชิดและหมั่นสังเกตบอกว่า ทุกวันจะได้ยินเสียงน้ำไหลจากฝักบัวดังขึ้นในห้องของท่าน ทั้ง ๆ ที่ในห้องไม่มีห้องน้ำหรือท่อน้ำฝักบัวเลย ครั้นท่านออกมาที่นอกชาน จะเห็นว่า เนื้อตัวผ้าอาบน้ำของท่านเปียกชุ่มไปหมด และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลำเจียกตลบฟุ้งอยู่เป็นประจำ บางคนจึงให้ฉายาว่า “พระพิรุณฺหผล”
ที่เล่ามาข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของศาสนา ความเชื่อ และความศรัทธา ตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเสือที่กล่าวขวัญและเลื่องลือจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชุมชนบ้านสามกอ ตลอดจนตำบลและอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง และทุกภูมิภาคของประเทศไทย ให้เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนมาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับรูปเหมือนองค์หลวงพ่อเสือ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลวงพ่อเสือ วัดสามกอ และมีขนาดเท่าองค์จริง ส่วนงานนมัสการองค์หลวงพ่อเสือจัดงานประเพณีวัฒนธรรมประจำปีของวัดสามกอ ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ สำหรับวิหารหลวงพ่อเสือเปิดให้พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบนมัสการหลวงพ่อเสือได้ทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 18.00 น.