ประวัติความเป็นมา(เช่น ประวัติ,ความหมาย,คำจำกัดความ,หลักแหล่งดั้งเดิม,ขนบธรรมเนียมประเพณี,การประกอบอาชีพ) ประเพณีสู่ขวัญข้าว เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก
จังหวัดนครนายก เนื่องจากภูมิประเทศของตำบลเขาพระพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบแบน มีอาณาเขตติดกับแนวเทือกเขาใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การเพาะปลูกทำนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวตำบลเขาพระตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงมีอาชีพทำนาสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้นเมื่อถึงเวลา เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ของทุกๆปี ชาวนาในตำบลเขาพระทุกครอบครัวก็จะร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมประเพณีสู่ขวัญข้าวขึ้นทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เกิดสิริมงคล และเป็นการกตเวทิตาคุณแด่แม่โพสพ ที่มีพระคุณต่อชาวนามาตลอด
ความสำคัญ (ที่มีต่อการพัฒนาการทางวัฒนธรรม)ชาวตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ได้ปฏิบัติประเพณีสู่ขวัญข้าวขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน เป็นการบำรุงขวัญของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น
รูปแบบความเชื่อ(ลักษณะการแสดงออก,เสื้อผ้าการแต่งกาย,เครื่องมือเครื่องใช้) สู่ขวัญข้าวเป็นประเพณีชาวตำบลเขาพระที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เป็นความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับแม่โพสพ ซึ่งมีความเชื่อกันว่าแม่โพสพคือเทพธิดาประจำข้าวหรือเจ้าแม่แห่งข้าว เป็นผู้คอยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ถ้าชาวนาทำพิธีกราบไหว้บูชาแม่โพสพตามประเพณีแล้ว จะทำให้ร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ หลังจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว นำข้าวมานวด มาผัดและนำขึ้นยุ้งฉาง พอถึงวันที่เป็นสิริมงคล เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ก็จะเปิดยุ่งฉางนำเอาข้าวเปลือกมากองเพื่อประกอบพิธีสู่ขวัญข้าว ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อได้บูชาแม่โพสพ เรียกขวัญที่ตกอยู่ท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉางแล้ว ในปีต่อไป จะได้ผลลิตข้าวมากขึ้น ปราศจากศัตรูและพืชและสัตว์มาทำลายข้าวเครื่องเรียกขวัญ ได้แก่ กระบุงใส่ใบคูณ ใบยอ ข้าวสุก น้ำ ข้าวต้มมัด เผือกมันต้ม หมาก ๑ คำ นอกจากนี้เตรียมอุปกรณ์เครื่องบายศรีสู่ขวัญ และขันธ์ ๕ (พานใส่ดอกไม้และเทียนจำนวนอย่างละ ๕ คู่) อันประกอบด้วย
ไก่ต้ม ๑ ตัวไข่ต้ม ๑ ฟองขนมต้มขาวต้มดำเหล้าขาว บุหรี่กรวยดอกไม้รูปเทียน
โอกาส ฤดูกาล ประเพณีสู่ขวัญข้าวตำบลเขาพระ กำหนดดำเนินการในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี
โดยกำหนดจัดกิจกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ในช่วงเช้า พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓
ที่จะต้องตระเตรียมเครื่องเรียกขวัญ จากนั้นหมอขวัญจะทำพิธีสู่ขวัญข้าวจนเสร็จสิ้นพิธีการ ส่วนในช่วงกลางคืน เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ –๒๒.๐๐ น. จะมีกิจกรรมสืบเนื่องกัน ชาวบ้านจะจัดงานรื่นเริงสังสรรค์
เพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยว