เจ้าแม่โพธิ์สาวหาญ
สถานที่ตั้งวัดโพธิ์สาวหาญ เลขที่ ๑๐๓ บ้านโพธิ์สาวหาญ หมู่ที่ ๓ ตำบล โพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประวัติเจ้าแม่โพธิ์สาวหาญครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยา กำลังจะเสียเอกราชเป็นครั้งที่ ๒ แก่พม่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตัดสินพระทัยนำทหารประมาณ ๕๐๐ นาย ตีฝ่าวงล้อมของพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงวัดโพธิ์สังหาร แห่งนี้ กองทัพพม่าก็เกิดยกทัพตามมาทัน จึงเกิดการรบต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอนกันขึ้น ขณะสู้รบกันอยู่พระเจ้าตากสินตกอยู่ในวงล้อมของพม่า พลันปรากฏมีวีรสตรีนิรนาม ๒ คน นุ่งโจงกระเบนตะเบ็งมาร ถือดาบ ๒ มือ วิ่งออกมาฟาดฟันพม่าข้าศึกที่กำลังรุมล้อม จนพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถตีฝ่าวงล้อมของพม่าข้าศึกออกไปได้ แต่ปรากฏว่า วีรสตรีนิรนามทั้งสองนั้น ต้องมาสังเวยชีวิตลง ณ ทุ่งโพธิ์สังหารนี้ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถกู้เอกราชของชาติไทยและทรงขึ้นครองราชย์ แล้ว ก็ทรงรำลึกถึงคุณงามความดี ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยอมสละแม้ชีวิตของสตรีนิรนามทั้ง ๒ คน จึงโปรดทำนุบำรุงบ้านโพธิ์สังหารและวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดโพธิ์สาวหาญ อันหมายถึง หมู่บ้านโพธิ์อันมีวีรสตรีผู้ห้าวหาญ ปัจจุบัน ได้สร้างรูปปั้นปูนขึ้น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกนึกถึงคุณงามความดี ของวีรสตรีผู้กล้าหาญทั้งสองที่ยอมสละแม้ชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา