ประวัติเจดีย์กตัญญูรวมญาติ
เจดีย์กตัญญูรวมญาติ วางผังก่อสร้างเมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540 ตรงกับขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู เวลา 06.49 น. แล้วก็ดำเนินการก่อสร้างมาเรื่อยๆ ไม่ได้หยุด จนสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2545 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ใช้งบประมาณ 12,759,500 บาท (สิบสองล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) งบประมาณทั้งหมดได้มาจากประชาชนชาวลำนารายณ์
ขนาดของเจดีย์กตัญญูรวมญาติ ฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 32 เมตร 5 ชั้น ภายในองค์เจดีย์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กจากฐานถึงยอด ลวดลายภายนอกสร้างด้วยเซรามิคเคลือบเงา (กระเบื้องอย่างดี) จากโรงงานเด่นสยาม จังหวัดลพบุรี
พระครูบุญบาลประดิษฐ์ (พระอาจารย์ทองใบ เตชปุญฺโญ) ออกแบบเขียนแปลน และควบคุมการก่อสร้าง นายไพโรจน์ เกตุแก้ว (ช่างป้อม) และนางกุหลาบ เกตุแก้ว คู่สามีภรรยาเป็นหัวหน้าช่าง มีคนงาน 5-7 คน งานขุดดิน ผูกเหล็ก และเทปูนจากฐานถึงยอดเจดีย์ แรงงานพระภิกษุ-สามเณร วัดลำนารายณ์ ช่วยกันก่อสร้างเป็นองค์เจดีย์ ปูนเสริมเหล็กจากฐานถึงยอดใช้ระยะเวลาจาก พ.ศ.2540-2543 รวม 3 ปี ส่วนการตกแต่งลวดลายประดับต่างๆ มีช้างจากบริษัทเด่นสยาม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 4-5 คน มาติดลวดลายเซรามิค (กระเบื้องอย่างดี) มาติดจากปี พ.ศ.2543-2545 รวม 2 ปี แล้วเสร็จ รวมเวลาการก่อสร้างเจดีย์กตัญญูรวมญาติ 5 ปี
โดยความหมายรายละเอียดเจดีย์ฯ มีดังนี้
1. ชื่อเจดีย์กตัญญูรวมญาติ หมายถึง เป็นศาสนวัตถุ อันศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด หรือที่ประดิษฐานของศักดิ์สิทธิ์ ของมีค่าจากฐานถึงยอดองค์เจดีย์ฯ เป็นอนุสรณ์การมีศรัทธาเสียสละของ พ่อ-แม่, ปู่-ย่า, ตา-ยาย, ของคนลำนารายณ์ที่มีต่อพระพุทธศาสนา คำว่า เจดีย์กตัญญู เอามาจากคำว่า อนุสาวรีย์ คือที่บรรจุอัฐิธาตุของบรรพบุรุษ รวมญาติ หมายความว่า แต่ละปีจะมีเทศกาลสงกรานต์ประจำทุกปี เพื่อให้ญาติพี่น้องมารวมกันทำบุญบังสุกุลอุทิศให้ ปู่-ย่า, ตา-ยาย และญาติที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และนำอัฐิมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์กตัญญูรวมญาติ และพบกันกับญาติ วันกตัญญูสงกรานต์ของทุกปี เป็นอุบายการรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยเอาไว้ และได้รักษาความสามัคคี เพื่อให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษให้มั่นคงตลอดไป
2. เจดีย์กตัญญูรวมญาติ จากฐานล่างถึงยอดมีความสูง 32 เมตร หมายถึง อาการ 32 ประการ ของมนุษย์หรือธรรมสังคินี ที่พระสวดเวลามีคนตาย ก่อนนำศพไปเผาต้องสวดธรรมสังคินี (32 เมตรถ้าคิดเป็นศอกก็จะได้ 64 ศอก ซึ่งเท่ากับคำว่า ธัมมา ทั้งหมดมี 64 คำพอดี โดยแบ่งองค์เจดีย์กตัญญูรวมญาติออกเป็น 5 ชั้น เป็นปรางค์สี่เหลี่ยม ศิลปะสี่ตระกูลช่าง)
โดยชั้นล่าง (ชั้นที่1)บรรจุอัฐิธาตุของประชาชน ช่องขนาด 50x50 เซนติเมตร จำนวน 1,250 ช่อง บรรจุโกฎิใส่อัฐิได้ช่องละ 9 อัน หรือ 9 คน ของอัฐผู้เสียเสียชีวิตเรียกว่าสุสาน
ชั้นที่ 2ประดิษฐานซุ้มมณฑป 12 ซุ้ม ประดิษฐานเทพประจำปีเกิดของมนุษย์ เรียกว่า 12 ราศี ประจำปีเกิด คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน ภายในองค์เจดีย์ฯ ประดิษฐาน พระพุทธรูป และรอยพระพุทธบาทจำลอง ชั้นนี้เรียกว่า 12 ราศี สี่ตระกูลช่าง หมายถึง สร้างด้วยศิลปะของล้านนา ด้านทิศเหนือ ศิลปะของล้านนา ทิศตะวันออก ศิลปะขอม ทิศใต้ ศิลปะไทย และทิศตะวันตก ศิลปะจีน ทั้งสี่ทิศมีความหมายว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เคยมีชนชาติมาอยู่อาศัย 4 เผ่า คือ ชนชาติลาวล้านนา 3,000 ปี ชนชาติขอม-เขมร 2,000 ปี ชนชาติไทย 1,000 ปี และชนชาติจีน 530 ปี
ชั้นที่ 3ประดิษฐานพระอรหันต์ 8 ทิศ คือ พระสาวกผู้ใหญ่ที่สำคัญได้แก่ 1.พระอัญญาโกณฑัญญะ 2.พระมหากัสสปะ 3.พระสารีบุตร 4.พระอุบาลี 5. พระอานนท์ 6.พระควัมปติ 7.พระโมคคัลลานะ 8.พระราหุล
ชั้นที่ 4ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ คือ 1.พระพุทธเจ้ากะกุสันโธ 2.พระพุทธเจ้าโกนาคมโน 3.พระพุทธเจ้ากัสสะโป 4.พระพุทธเจ้าโคตะโม 5.พระศรีอริยะเมตไตย์ แต่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิ์สัตว์อยู่ในปัจจุบัน สถิตอยู่สรวงสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ได้นำรูปพระองค์ประดิษฐไว้ในเจดีย์ ส่วนพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว ประดิษฐานอยู่ด้านนอก รวมชั้น 2-4 นี้เรียกว่าวิหาร
ชั้นที่ 5ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้มาจากถ้ำผาสวรรค์ จังหวัดเลย เริ่มแรกได้มา 9 องค์ ต่อมาเพิ่มอีก 5 องค์ รวมเป็น 14 องค์ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทวดารักษาตลอด บนยอดเจดีย์กตัญญูรวมญาติ ปลายยอดเจดีย์ฯ ติดทองคำ 100% น้ำหนัก 24 บาท ไว้บนฉัตร 9 ชั้น ชั้นที่ 5 เรียกว่าเจดีย์แบ่งเรียกชื่อตามการบรรจุประดิษฐาน จะต้องเรียกอย่างนี้ คือ
ชั้นที่ 1 บรรจุอัฐิธาตุของบรรพชนทั่วไป เรียกว่าสุสาน
ชั้นที่ 2-4 ประดิษฐานพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าวิหาร
ชั้นที่ 5 บรรจุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่า เรียกว่าเจดีย์
เมื่อรวมทั้งองค์ จึงให้เรียกว่าเจดีย์กตัญญูรวมญาติ