ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 18° 23' 35.1247"
18.3930902075091
ลองจิจูด (แวง) : E 98° 43' 6.1204"
98.7183667829601
เลขที่ : 153188
วัดท่าช้าง หรือวัดท่าช้างเก่า
เสนอโดย kunniga วันที่ 26 สิงหาคม 2555
อนุมัติโดย ลำพูน วันที่ 28 สิงหาคม 2555
จังหวัด : ลำพูน
1 893
รายละเอียด

วัดท่าช้าง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๑ บ้านท่าช้าง ถนนสายท่าลี่-บ้านแพะ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๑ งาน ๕๘ ตารางวา น.ส.๓ก โฉนดเลขที่ ๒๒๑๘๔ อาณาเขตทิศเหนือจดลำเหมืองสาธารณะ และที่ดินเอกชน ทิศใต้จดลำเหมืองสาธารณะ และที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา น.ส.๓ ก เลขที่ ๑๐๐๙ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลา กุฏิสงฆ์ และหอฉัน ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปแบบสิงห์สาม พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน และพระพุทธรูปเนื้อทองเหลือง

ก่อนที่จะเป็นหมู่บ้านท่าช้าง ตามประวัติศาสตร์จามเทวีวงศ์มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง (ช้างผู้ก่ำงาเขียว) ช้างคู่พระบารมีพระนางเจ้าจามเทวีวงศ์ ผู้ก่อตั้งนครหริภุญชัยและกษัตริย์พระองค์แรกแห่งแคว้นหริภุญชัย เดิมช้างเชือกนี้เกิดที่เมืองเชียงดาว ในถ้ำหลวงเชียงดาว ก่อนที่จะมีการนำช้างเผือกเชือกนี้นำมาถวายนั้น ได้นำช้างเชือกนี้มาปล่อยที่ห้วยเขียว จังหวัดเชียงใหม่ มีนายสารถีแอบตามดูช้างตลอดทางหลังลัดเลาะจนถึงหนองแห่งหนึ่งเพื่อจะอาบน้ำ จึงเรียกที่แห่งนั้นว่า หนองช้างอาบ จนถึงห้วยอีลิงลัดข้ามน้ำปิงจนถึงดอยพระบาทแห่งหนึ่งเพื่อข้ามห้วยปันตอง แล้วเอาเท้าหยั่งลงท่า จึงเรียกว่าท่าช้างผ่านเวียงหนองล่อง เข้าหาบ้านห้วยปันจ้อย จึงเรียกว่า หนองปู้เขียว ลัดเลาะเข้าหนองยวง เหล่าดู่ เลี่ยงเข้าหนองดู่ วังกู่ เข้าหาท่ากองิ้ว เข้าบ้านก้อง ปากบ่อง ตัดเข้าสบกวง สบทา เข้าหาแม่กุ้ง ได้พบหนองแห่งหนึ่ง เรียกว่า ท่าหนองช้าง แล้วก็ขึ้นเหนือ จึงเรียกว่า หนองช้างคืน เข้าป่าเหวแล้วเดินทางไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ป่าเส้า ย้อนกลับมาทางสลีย้อย(ศรีย้อย) ใกล้สันต้นธง แล้วก็เข้าสู่ตัวเมือง

ก่อนที่จะเล่าประวัติวัดและหมู่บ้านนั้น สมัยนั้นหมู่บ้านที่มีการก่อตั้งเป็นหมู่บ้านในแถบเดียวกัน มีเพียงบ้านศรีเตี้ย บ้านหนองล่อง บ้านสันปูเลย บ้านดงปินหวาน ต่อมาราว พ.ศ.๒๓๗๓ ได้มีพระเถระรูปหนึ่งนามว่า สวาธุเจ้าถาวระ ได้พาญาติพี่น้อง กลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบูรณะวัดศรีเตี้ยขึ้นมาใหม่ เดิมเป็นวัดร้าง จึงเรียกว่า วัดหลวงสะหรีเตี้ย เป็นวัดที่สร้างเป็นวัดแรก ในระแวกนั้น สมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๘๙) สมัยเจ้าหลวงน้อยอินทร์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน
องค์ที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๗๐-๒๓๘๑) สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ส่วนบ้านท่าช้างยังเป็น ที่นา ไร่สวน ได้มีพ่ออุ้ยดี อุประหนอง พ่ออุ้ยคำปัน สาโร พ่ออุ้ยโต่ง สุภาวงศ์ และญาติพี่น้องมาอยู่เป็นคณะแรก ต่อมาก็เริ่มเป็นหมู่บ้านขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วนั้น ได้มีพระเถระรูปหนึ่งได้บวชในสำนักวัดหลวงสะหรีเตี้ย ของท่านครูบาถาวร มีชื่อว่า ครูบามหายศ มีอายุราว ๒๕ ปี ท่านเป็นคนบ้านหนองล่อง ได้เล็งเห็นว่า บ้านท่าช้างและบ้านหนองล่องเป็น
หมู่บ้านมาขึ้น เนื่องจากการเดินเท้าไปทำบุญที่วัดศรีเตี้ยค่อนข้างยากลำบาก จึงกราบลาท่านครูบาถาวร มาสร้างวัดขึ้นมาใหม่ ราวปี พ.ศ.๒๔๐๕ ชื่อว่าวัดท่าช้าง และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในสมัยเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคุณหริภุญชัย (เจ้าหนานไชยลังกา) เจ้าเมืองลำพูน ลำดับที่ ๖ (พ.ศ.๒๓๘๖-๒๔๑๔) ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ท่านได้สร้างเสนาสนะขึ้นมา อาทิ วิหาร ศาลาบาตร กุฏิ กำแพง ศาลาโค้ง ซุ้มประตูช้าง
กลองหลวง หอธรรม

ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ สิ่งที่เหลือไว้ในปัจจุบันก็คือ วิหารหนึ่งหลัง กำแพงด้านเหนือ และต้นพิกุล (ดอกแก้ว) อายุร้อยกว่าปี เป็นสัญลักษณ์ตั้งอยู่หน้าวิหารในปัจจุบัน วัดได้ร้างมา ๒๓ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะศรัทธาบ้านท่าช้าง บ้านหนองล่องได้นิมนต์พระสงฆ์มา เข้ากรรมรุกมูล นำโดยท่านพระครูวิมลศีลาภรณ์ (ครูบาสุรินทร์) วัดหลวงศรีเตี้ย เป็นประธาน พระครูชินานุวัตร(ครูบามูล) วัดต้นผึ้ง พระครูโกมุทสราธิคุณ (ครูบาเมืองแก้ว) วัดสันปูเลย พระครูพิพัฒน์จันทวงค์ (ครูบาจั๋น)วัดสันเจดีย์ ริมปิง พระอธิการสุพรรณ พุทธสาโร วัดท่าช้าง ร่วมกับพระสงฆ์ สามเณรศรัทธาคุรุอุปัฏฐาก ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมหลังคาวิหารขึ้นมาอีกครั้ง เป็นครั้งที่ ๒ และในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ก็ได้ทำการบูรณะหลังคาวิหารอีกครั้ง เป็นครั้งที่ ๓ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๗ คณะศรัทธาบ้านท่าช้างมีมติ ร่วมกันทำการเริ่มสร้างวัดขึ้นมาอีกครั้ง โดยท่านพระครูสุนทรพุทธิสาร ร่วมกับผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่าช้าง และชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ และสร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้น และสร้างกำแพงล้อมรอบขึ้นมาใหม่ โดยยังยึดรูปแบบเดิม
คือใช้ดินปั้นเป็นสี่เหลี่ยมแล้วเอาไปเผา ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าและความสามัคคีแรงร่วมใจของชาวบ้านท่าช้าง ทำให้ปัจจุบัน วัดท่าช้างกลับมาเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านอีกครั้ง โดยได้สร้างกุฏิ ๑ หลัง ศาลาบาตร ศาลาเปรียญหอไตร กำแพง หอฉัน ธรรมมาสน์หลวง มณฑปใส่พระธาตุ สัตตภัณฑ์ เครื่องหลวง ห้องน้ำ

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดท่าช้าง
เลขที่ ๑๒๑ หมู่ที่/หมู่บ้านถนน ท่าลี่-บ้านแพะ
ตำบล หนองล่อง อำเภอ เวียงหนองล่อง จังหวัด ลำพูน
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง kunniga intarasaeng
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน
เลขที่ ๓๓ หมู่ที่/หมู่บ้านถนน หน้าวัดพระยืน
ตำบล เวียงยอง อำเภอ เมืองลำพูน จังหวัด ลำพูน รหัสไปรษณีย์ 51000
โทรศัพท์ 053-510243 โทรสาร 053-510244
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่