ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 10° 27' 38.9038"
10.4608066
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 8' 23.2559"
99.1397933
เลขที่ : 153945
คนตากแดดกับสิ่งสำคัญ ๗ อย่าง
เสนอโดย Piyapong วันที่ 29 สิงหาคม 2555
อนุมัติโดย mculture วันที่ 18 มีนาคม 2559
จังหวัด : ชุมพร
0 666
รายละเอียด

คนตากแดดกับสิ่งสำคัญ ๗ อย่าง
อย่างที่ ๑เมืองโบราณ

ชื่อเรื่อง ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองชุมพร“ชุมชนบ้านวัดประเดิม”

ที่มาและความสำคัญ
ตำบลตากแดดเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดชุมพรและถือได้ว่าเป็นตำบลที่มีความเกี่ยวข้องกับแหล่งโบราณคดีเมืองชุมพรเก่า ซึ่งนักโบราณคดีท้องถิ่นมีความเชื่อว่าบริเวณเมืองชุมพรเก่าตั้งอยู่ในพื้นที่ วัดประเดิม หมู่ที่ ๒ ของตำบลตากแดด

ความเชื่อของกลุ่มชาวบ้านในตำบลนี้เกี่ยวกับชื่อของตำบลได้กล่าวกันว่า “ในตอนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๓๑๐ นั้น พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองชุมพร โดยพม่าได้ตั้งกองทัพอยู่บริเวณนี้ เมื่อฝนตกหนักพม่าก็เปียกกันทั้งกองทัพ พอฝนหาย พม่าได้ถอดเบาะ อานม้า ตลอดจนเสื้อผ้าออกผึ่งแดดกันเต็มท้องทุ่งจึงเรียกสถานที่นี้ว่าพม่าตากแดดต่อมาเมื่อเป็นตำบลก็เรียกกันว่าตำบลตากแดดเล่ากันว่า เจ้าเมืองชุมพรจับคนชั่วที่ประพฤติผิด เช่น พวกอั้งยี่จับล่ามตากแดดไว้ที่นี่ จึงเรียกชื่อตำบลนี้ว่า“ตากแดด”

อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พม่ายกทับมาตีเมืองไทย ครั้งใหญ่ เรียกว่าสงคราม ๙ ทัพ พม่าตีหัวเมืองทางใต้ตั้งแต่เมืองมะลิวัลย์ เมืองกระ เมืองชุมพรลงไป จนถึงเมืองนครศรีธรรมราชได้จนหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา ยกทัพหลวงลงไปช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ ทัพหลวงได้ยกมาชุมนุมพลที่เมืองชุมพร พระองค์จึงจัดกองกำลังทหารออกไปจับทหารพม่าที่คอยปล้นสะดมทรัพย์สินคนไทยตามหัวเมืองปักษ์ใต้มาขังกรงตากแดดไว้กลางทุ่งนาของเมืองชุมพรและให้ทหารไปป่าวประกาศให้คนไทยที่หวาดกลัวพม่าจนหนีเข้าป่าออกมาดูทหารพม่าที่ถูกจับมาขังไว้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้คนไทยเลิกหวาดกลัวทหารพม่า บริเวณทุ่งนาที่นำทหารพม่ามาขังกรงตากแดดไว้นั้น จึงได้ชื่อว่าทุ่งพม่าตากแดดซึ่งปัจจุบันคือ ตำบาลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร”

ตำบาลตากแดดตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองชุมพร ห่างจากที่ว่าการอำเภอทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐.๕๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒,๘๕๐ ไร่ มีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือติดกับ เทศบาลตำบลวังไผ่ และเทศบาลเมืองชุมพร
ทิศใต้ติดกับ ตำบลทุ่งคา
ทิศตะวันออกติดกับ ตำบลบางหมาก
ทิศตะวันตกติดกับ ตำบลขุนกระทิง

การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยทั่วไปมีการทำนาในพื้นที่ราบและทำสวนมะพร้าวในพื้นที่ค่อนข้างราบ

ชาวตำบลตากแดดมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายๆ กับตำบลอื่นๆ ในจังหวัดชุมพร มีการทำบุญตักบาตรในวันเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วัตตรุษสงกรานต์การทำบุญในวันพระ

หมู่บ้านวัดประเดิมซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลตากแดด ทางด้านภูมิศาสตร์และโบราณคดี มีร่องรอยและหลักฐานหลายอย่างพอที่จะเชื่อได้ว่า เคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน ก่อนที่จะย้ายไปตั้งเมืองที่ตำบลท่ายางและตำบลท่าตะเภาในปัจจุบัน ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น พระเสื้อเมือง พระหลักเมือง

สมัยโบราณเจ้าผู้ครองเมืองจะสร้างพระเสื้อเมือง พระหลักเมืองไว้เป็นคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งบ้านวัดประเดิม หมู่ที่ ๒ ตำบลตากแดด ก็มีพระเสื้อเมือง พระหลักเมือง ตั้งแต่โบราณมาและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในเขตปริมณฑล ๑ กิโลเมตร ของหมู่บ้านวัดประเดิมนั้นเคยมีวัดถึง ๖ วัด ได้แก่
๑) วัดเดิม
๒) วัดนอก
๓) วัดท่าศาลา
๔) วัดแหลม
๕) วัดป่า
๖) วัดแจ้ง
แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนเก่าที่มีคน อยู่หนาแน่นจึงมีวัดถึง ๖ วัด ปัจจุบันวัดใกล้เคียงเหล่านี้ ร้างไปหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่วัดประเดิมเพียงวัดเดียวซึ่งน่าจะเป็นวัดแรกของเมืองชุมพรที่มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายในวัด

หมู่บ้านวัดประเดิมเมื่อได้ศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์และโบราณคดีแล้ว มีร่องรอยและหลักฐานหลายอย่างที่พอจะเชื่อได้ว่าเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน ก่อนที่จะย้ายไปตั้งเมืองที่ตำบลท่ายางและตำบลท่าตะเภา ในปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น พระเสื้อเมือง พระหลักเมือง ไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง สมัยโบราณเจ้าผู้ครองเมืองจะสร้างพระเสื้อเมือง พระหลักเมืองไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งวัดประเดิม หมู่ที่ ๒ ตำบลตากแดด ก็มีพระเสื้อเมืองและพระหลักเมือง ตั้งแต่โบราณมาและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิงจากหนังสือประวัติวัดประเดิมและพระบรมสารีริกธาตุ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร หน้า ๑-๔ และนายสำเริง หนูคงวิทยากรในกิจกรรมฯ เมื่อ ๓๐ พ.ค.๕๕

อย่างที่ ๒นมัสการพระธาตุ
จุดเด่น
โบราณสถานและโบราณวัตถุของ “ชุมชนบ้านวัดประเดิม”
วัดประเดิมเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง เป็นวัดแรกของเมืองชุมพร ซึ่งเดิมเรียกว่าวัดสุทธาวาสรามเดิม ต่อมาเรียกสั้นๆว่า วัดประเดิมหรือธาราเดิม แปลว่า แรกเริ่มหรือประเดิมก่อนใคร วัดประเดิมสร้างแต่สมัยใดยุคใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด มีแต่คำบอกเล่าจากบรรพบุรุษที่เล่าต่อๆกันมา และมีโบราณวัตถุโบราณสถานที่พออ้างอิงและยืนยันได้ว่าเป็นวัดโบราณ คือ
๑.พระปรางค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒.พระบรมสารีริกธาตุสันนิษฐานว่า พระบรมสารีริกธาตุคงจะบรรจุในเจดีย์เป็นเวลาหลาย ร้อยปี แต่เพิ่งพบเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระครูสังวรสมาธิวัฒน์ พร้อมด้วยคุณหญิงอนุกิจวิธูร จากกรุงเทพมหานคร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากวัดประเดิม ไปวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร เพื่อถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้ท่านทรงพิจารณาว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงหรือไม่ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชท่านได้ทรงพิจารณาแล้ว ท่านรับรองว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริง และท่านได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวนหนึ่งเพื่อร่วมบรรจุร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุของวัดประเดิม และทางวันประเดิมได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระปรางค์ เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก
๓.เศียรพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลาแดงและหินทรายแดง
๔. เจดีย์ที่สร้างด้วยอิฐโบราณ
อายุอิฐไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี
๕. กุฏิหลังใหญ่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตำบลตากแดด /ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองชุมพร/สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองชุมพรและที่ตั้งโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลตากแดด)

นอกจากโบราณวัตถุและโบราณสถานข้างต้น วัดประเดิมยังมีประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่งที่ใคร่นำมา กล่าวในครั้งนี้คือ บวชเนตรธรรมะและศลีจาริณี ฟังธรรมเทศน์อยู่ดีมีสุขครอบครัวอบอุ่นห่างไกลยาเสพย์ติดและสวดมนต์ข้ามปี ประเพณีตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ ตักบาตรเทโว ผ้าป่าครอบครัว จองสลากพัตร การเล่นตีคลีหรือลูกช่วง การเล่นสะบ้าลูกสาวหรือสะบ้าสองข้าง กิจกรรมเพลงบอก เพลงกล่อมเด็ก เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมครอบครัวสายใยรักสานสัมพันธ์ครองครัวอบอุ่นห่างไกลยาเสพย์ติดเพื่อให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัว สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลตากแดด)

อย่างที่ ๓อภิวาทพ่อปู่กราบนมัสการพ่อปู่เวศน์

อย่างที่ ๔เรียนรู้วัฒนธรรม (ประเพณี อาหาร และการละเล่นพื้นบ้านคนตากแดด )

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย
อาหาร ได้แก่
- แกงไตปลา
ส่วนประกอบ
ที่เป็นสมุนไพรไทย ตะไคร้ ข่า ขิง กระเทียม ใบมะกรูด พริกสด ผิวลูกมะกรูด กะทิสดคั้นจากมะพร้าวขูด

วิธีทำ
๑.ใช้มีดหั่นตะไคร้ ข่า ขิง(เล็กน้อย) ให้เป็นชิ้นเล็ก ผสมกับพริกสด กระเทียม ผิวมะกรูด ตำพอละเอียด
๒.นำเครื่องแกงที่ตำพอละเอียด น้ำกะทิพอประมาณ และไตปลา(หรือพุงปลา) ที่เตรียมไว้ ใส่หม้อ แล้วนำไปตั้งบนเตาไฟพอสุก โรยด้วยใบมะกรูดฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ พริกสด ตักรับประทานได้

หมายเหตุปัจจุบันแกงไตปลา เป็นอาหารขึ้นชื่อ และขึ้นโต๊ะอาหารของคนตากแดดและคนชุมพรทั่วไป เวลามีงาน โดยเฉพาะงานบวช งานศพ หรืออื่น ๆ เป็นต้น

ผู้ให้ข้อมูล นางจำนงค์ สงัดศรี /นางสำเนาว์ สุดาฉิม ๓๑ พ.ค.๕๕

- มะพร้าวคั่ว
ส่วนประกอบ
ที่เป็นสมุนไพรไทย ได้แก่ ตะไคร้ ข่า ขิง กระเทียม ใบมะกรูด(หั่นชิ้นเล็ก ๆ) พริกสด ผิวลูกมะกรูด มะพร้าวแห้งพอหมาด ๆ หรือเขาเรียกว่ามะพร้าวก้ามกุ้ง ปอกเปลือก ขูด กับกระต่ายขูดมะพร้าว(โบราณ) ตามต้องการ กะปิ
วิธีทำใช้มีดหั่นตะไคร้ ข่า ขิง(เล็กน้อย) ให้เป็นชิ้นเล็ก ผสมกับพริกสด กระเทียม ผิวมะกรูด ตำพอละเอียด เติมกะปิ หลักจากนั้นนำเครื่องแกงที่ๆ ได้ผสมกับมะพร้าวขูดที่เตรียมไว้ ใส่หม้อหรือกระทะตั้งบนเตาไฟ ใช้ไม้พายคนไปมา พอสุก ใส่ใบมะกรูดที่หั่นเตรียมไว้ยกลงจากเตาไฟ รับประทานได้

หมายเหตุมะพร้าวคั่ว เป็นอาหารคาวของคนชุมพรสมัยโบราณซึ่งหาได้ในท้องถิ่น และทำไม่ยาก เช่นเดียวกับคนตากแดด

ผู้ให้ข้อมูล นางจำนงค์ สงัดศรี /นางสำเนาว์ สุดาฉิม วันที่ ๓๑ พ.ค.๕๕ ผ

- ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน
ส่วนประกอบที่ต้องเตรียม /ข้นตอนการทำ ดังนี้
๑. ข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้าวเหนียวตราเขี้ยวงูก็จะดี ตามต้องการ
๒. มะพร้าวที่ไม่แห้งเกินไป ที่เขาเรียกว่ามะพร้าวก้ามกุ้ง
๓. น้ำตาลมะพร้าวหรือที่เขาเรียกว่าน้ำตาลปีบ รสชาติจะหวานหอม
๔. น้ำตาลทรายขาว ไว้สำหรับใส่น้ำกะทิที่มูลข้าวเหนียว จะทำให้ข้าวเหนียวไม่แห้ง และจะนุ่มนวล
๕. เกลือป่นหรือเกลือเม็ดใส่ในน้ำกะทิที่มูลข้าวเหนียวนิดหน่อย ใส่พอประมาณเพื่อให้มีรสชาติเข้ม๖. อุปกรณ์ /ภาชนะ อุปกรณ์ อาที เตาแก๊ส หรือเตาถ่าน ภาชนะที่ต้องใช้ อาทิ หม้อใส่ข้าวเหนียว หรือซึ้ง โดยเอาน้ำใส่ชั้นล่าง น้ำใส่ชั้นบน และมีหม้อหรือกาละมัง ช้อนไม้พายเล็ก ๆ เตรียมไว้
ขั้นตอนการทำ
๑. ต้องรู้เวลาทำว่าจะทำตอนไหน หากจะทำตอนเช้า ต้องแช่ข้าวเหนียวตอนกลางคืน หรือประมาณกว่า ๑๐ ชั่วโมง หรือทำตอนกลางคืนก็ต้องแช่ข้าวเหนียวตอนกลางวัน เป็นต้น เมื่อแช่น้ำได้ที่แล้วก่อนจะนึ่งควรล้างให้สะอาดอีกครั้ง ใช้เวลานึ่งประมาณ ๑ ชั่วโมง เมื่อข้าวเหนียวสุกเอามามูลกับน้ำกะทิที่เตรียมไว้ โดยมีวิธีการ คือ
๒. ใช้น้ำกะทิประมาณ ๓ ก.ล.ต่อ ข้าวเหนียว ๒ ก.กง แบ่งเป็น ๒ ส่วน หรือ ๓ ส่วนคือ หัวกะทิแบ่งไว้มูลข้าวเหนียว ส่วนที่ ๒ เอาไว้ผสมน้ำตาลปีบกับทุเรียนที่เตรียมไว้ทำน้ำกะทิทุเรียน
๓. เนื้อทุเรียนประมาณ ๓ ถ้วยแกง ต่อ ข้าวเหนียว ๒ ก.ก. และทุเรียนต้องสุกจะทำให้มีกลิ่นหอม นำเนื้อทุเรียนในส่วนที่ ๒

เคล็ดลับวิธีการเก็บข้าวเหนียวและน้ำกะทิ ไม่ให้เสียง่าย

วิธีการเก็บข้าวเหนียว
วิธีมูลข้าวเหนียว (๒ ก.ก.) ใช้หัวกะทิ ๓ ถ้วยแกง น้ำตาลทราย ๕ ขีด เกลือ ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำกะทิคนให้น้ำตาล เกลือ ละลายก่อน ชิมรสชาติตามใจชอบ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้ว ยกเทใส่กะละมังร้อน ๆ และใส่น้ำกะทิที่เตรียมไว้ทันทีพอประมาณ ใช้ไม้พายเล็กที่เตรียมไว้คนให้ทั่ว อย่าให้น้ำกะทิมากเกินจะทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ไม่น่ารับประทาน เมื่อดูว่าน้ำกะทิซึมในเม็ดข้าวเหนียวและข้าวเหนียวแห้งแล้วหรือถ้ายังไม่แห้งให้นำไปตั้งบนเตาไฟอ่อน ๆ อีกครั้ง โดยตะแคงเข้าหาเตาไฟทีละมุมเมื่อแน่ใจว่าแห้งดีแล้ว ยกลงจากเตาไฟ ปิดฝาให้มิดชิดประมาณ ๑๐ นาที จึงจะรับประทาน

วิธีการทำและเก็บน้ำกะทิข้าวเหนียวทุเรียน
ใช้น้ำกะทิที่แบ่งไว้ คือ หัวกะทิกับหางกะทิ สมมติว่า มีน้ำกะทิอยู่ ๒ ส่วน หัวกะทิ ๓ ถ้วยแกง หางกะทิ ๔ ถ้วยแกง เอามารวมกันแล้วจึงเอาน้ำตาลแดงประมาณ ๒ ก.ก. น้ำตาลทราย ๗ ขีด ละลายในน้ำกะทิก่อน ชิมดูให้ออกหวาน มัน เค็ม(นิดหน่อย) รสชาติตามชอบ คือถ้าชอบมันเติมหัวกะทิ ชอบหวานเติมน้ำตาล เมื่อได้ที่แล้ว นำเนื้อทุเรียนที่มีแต่เนื้อไว้ค่อย ๆ เทใส่ลงไปใช้ช้อนคนดูว่าเนื้อทุเรียนน้อยไปหรือไม่แล้วค่อยเติมลงไป จะทำให้น้ำกะทิไม่เข้มจนเกินไป เมื่อเอาไปทานกับข้าวเหนียวที่พร้อมจะรับประทาน หรือจะขาย
วิธีการทำให้น้ำกะทิอยู่ได้นาน คือ เอาเม็ดพริกสดสีแดง ๆ ลอยในหม้อน้ำกะทิ

ผู้ให้ข้อมูลนางสำเนาว์ สุดาฉิม ๐๘ ๙๒๙๐ ๗๖๔๒

การละเล่นพื้นบ้านคนตากแดด
ได้แก่
สะบ้า ตีคลี และวิ่งกระสอบ

- สะบ้าลูกสาว
วิธีเล่น
เอาลูกสะบ้าสี่ลูกมาตั้นบนพื้นดินที่มีพื้นเรียบ โดยตั้งเป็นสี่ทิศ ห่างระหว่างกันเท่าลูกสะบ้า เรียกว่า “สะบ้าพี่เลี้ยง” หรือองครักษ์สำหรับคอยปกป้องลูกสาว ส่วนตรงกลางมีสะบ้าอีกหนึ่งลูก เรียกว่า “สะบ้าลูกสาว” ผู้เล่นจะใช้สะบ้าห้าลูกเท่ากัน ใช้โหม่ง ภาษาถิ่นเรียกว่า ทอยให้ไปถูกสะบ้าองครักษ์ล้มหมดเสียก่อนจึงจะทอยให้ลูกสะบ้าลูกสาวล้มลง เพราะถือว่าฆ่าองครักษ์ตายหมดแล้ว จึงจะเข้าไปหาลูกสาวได้ เมือทอยล้มหมดทั้งห้าลูกก็ชนะ แต่ถ้าทอยถูกองครักษ์สี่ลูกล้ม ลูกสะบ้าที่ทอยหมด ยังเหลือแต่ลูกสาวลูกเดียว คนอื่นที่สนุกด้วยกันเข้าไปทอย ถ้าทอยถูกก็ชนะ เพราะถือว่าการแพ้ชนะอยู่ที่ลูกสาว ถ้าทอยไม่ถูกคนอื่นก็เล่นต่อ หรือผู้เล่นทอยไปถูกสะบ้าลูกสาวก่อน โดยที่สะบ้าพี่เลี้ยงยังไม่ล้มก็แพ้ การเล่น ๆ เพื่อสนุกไม่เสียเงินหรือเป็นการพนัน แล้วแต่จะตกลงกัน นิยมเล่นในช่วงเทศกาลวันตรุษไทย ประเพณีสงกรานต์ หรือตามโอกาสที่จัดให้มีการละเล่น

- สะบ้าสองข้าง
วิธีเล่นเล่นบนพื้นราบ โดยตั้งลูกสะบ้าเป็นสองฝ่าย ๆ ละ ๑๒ ลูกเท่ากัน ตั้งเป็นแถวยาวระหว่างลูกห่างกันเท่าลูกสะบ้า อีกฝ่ายก็จะตั้งเป็นแถวยาวตรงกันข้าม ระหว่างฝ่ายห่างกันประมาณ ๖ – ๗ เมตร ลูกยิงก็มี ๑๒ ลูก
วิธียิงถ้าคนยิงถนัดขวา ก็เอาลูกสะบ้าใส่ในอุ้งมือซ้ายนิ้วมือทุกนิ้วห่อจับลูกสะบ้า ใช้นิ้วชี้ข้างขวางัดลูกสะบ้าในมือซ้ายให้ถนัดเต็มที่แล้วปล่อยลูกสะบ้าลงพื้น ลูกสะบ้าก็จะหมุน และวิ่งด้วยความเร็วไปชนลูกสะบ้าที่ต้งรับล้มแตกกระจาย
การเล่นใช้ผู้เล่นฝ่ายละเท่า ๆ กัน คือ ๓ – ๔ คน แล้วแต่จะตกลงกัน ฝ่ายที่ยิงก่อนเรียกว่าฝ่ายรุก ส่วนฝ่ายที่ยิงทีหลังเรียกว่าฝ่ายรับ เมื่อฝ่ายรุกยิงไปหมด ๑๒ ลูก ฝ่ายรับก็จะยิงโต้กลับ ถ้าลูกสะบ้าที่ตั้งถูกยิงล้มไม่หมด ก็จะยิงโต้กันไปโต้กันมา ฝ่ายไหนถูกยิงลูกสะบ้าล้มหมดก่อน ฝ่ายที่ถูกยิงลูกสะบ้าล้มก็จะยิงโต้กลับจนลูกยิงหมด และไปถูกลูกสะบ้าที่ตั้งรับล้มไม่หมด ฝ่ายที่ลูกสะบ้าล้มไม่หมด เป็นฝ่ายชนะ สำหรับผู้เล่นในครั้งนี้เพื่อการรื้อฟื้นการละเล่นพื้นบ้านเก่า ๆ ของคนตากแดด เป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดหาดทรายแก้ว และเด็ก เยาวชน ประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร ๓ มิ.ย.๕๕

อ้างอิงจากหนังสือประวัติวัดประเดิมและพระบรมสารีริกธาตุ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร หน้า ๔๓-๔๔ และนายเหี้ยง แดงสนิท วิทยากรในกิจกรรมฯ เมื่อ ๓ มิ.ย.๕๕

- การเล่นลูกช่วง
ความเป็นมา
การเล่นลูกช่วง(ภาษาถิ่นเรียกว่าตีคลี) การเล่นประเภทนี้สนุกสนานกว่าประเภทอื่น ผู้เล่นก็จะมากกว่า ส่วนที่ไม่เป็นผู้เล่นก็จะเป็นผู้ชม และจะมีกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย การเล่นจะจัดให้มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๐ คนขึ้นไป ใช้เศษผ้าม้วนให้เป็นลูกกลม ๆ เท่าผลส้มโอขนาดย่อม ม้วนให้แน่นใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งห่อผ้าที่ลูกกลม ๆ ที่ม้วนไว้ ใช้เชือกรัดผูกเป็นหาง สำหรับผู้เล่นใช้โหม่ง เรียกว่า ลูกคลี
สถานที่เล่นส่วนมากจะใช้บริเวณชายทุ่งที่มีพื้นที่เรียบและเตียนโล่ง หรือที่ลานวัด/สนามโรงเรียน ระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ห่างกันขนาดโหม่งลูกคลีกันถึง คนดูหรือผู้ชม และกองเชียร์ก็จะยืนใต้ร่มไม้ เวลาเล่น ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาบ่ายเพราะแดดอ่อนจะไม่ร้อนจัด เล่นไปจนถึงพลบค่ำจึงเลิกและจะมาเล่นต่อจนครบ ๓ วัน ผู้เล่นจะมีฝ่ายชายฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายหญิงฝ่ายหนึ่ง การเล่นครั้งแรกจะโหม่งลูกคลีไปให้อีกฝ่ายรับถ้ารับไม่ได้ ลูกคลีหล่นลงพื้นก็จะโหม่งกันไปโหม่งกันมาถ้ารับได้ก็จะเหวี่ยง (ภาษาถิ่นเรียกว่าปา) ให้ไปถูกอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ถูกปาก็ต้องพยายามหลบไม่ให้ถูก แต่ถ้าลูกคลีถูกใคร ผู้นั้นก็จะอยู่ฝ่ายที่เหวี่ยง และเรียกว่าเชลย ช่วงนี้กองเชียร์ก็จะเชียร์กันสนุกสนาน ฝ่ายที่ต้องเสียกำลังคนไปหนึ่งคน ก็จะพยายามโหม่งลูกคลีให้คนของตนรับให้ได้ ฝ่ายที่ได้เชลยมาก็กีดกัน ไม่ใช้เชลยรับได้ บางครั้งลูกคลีลอยมาจะหล่นใกล้ตัวเชลย ฝ่ายผู้ควบคุมตัวเชลยก็พุ่งตัวเข้าไปหาเชลยเอาร่างกระแทกจนเชลยล้มลงก็มี แต่ผู้เล่นจะไม่โกรธกันกลับสนุกเสียอีก ฝ่ายเชียร์ก็จะเชียร์กันไป ตอนที่ลูกคลีโหม่งไปมา ถ้าเชลยรับได้ เชลยก็เอาลูกเหวี่ยงไปที่ก้นฝ่ายผู้ควบคุมเชลยคนละทีจนหมดทุกคน แล้วก็ทิ้งลูกคลีกลับไปอยู่ฝ่ายตน คนที่เป็นเชลยเมื่อหมดเวลาเล่นก็จะมีการแลกเชลยกลับ ถ้าฝ่ายไหนต้องเสียเชลยมากกว่า เมือแลกแล้วได้กลับมาไม่หมดตอนนี้จะมีการไถ่เชลยคืน ฝ่ายที่ได้เชลยอยู่จะเป็นฝ่ายเรียกไถ่ เป็นเงินหรือสิ่งของที่ผู้เล่นมีอยู่ ถ้าเป็นของมีค่า เมื่อเล่นครบ ๓ วันก็จะคืนให้เจ้าของไป
ยังมีการเล่นอีกวิธีหนึ่ง เมื่อเหวี่ยงลูกคลีถูกผู้ที่ถูกเหวี่ยงไม่ยอมไปเป็นเชลย ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเดินเข้าไปไหว้ผู้ชายที่เล่นทุกคน แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็จะไปรำต่อหน้าฝ่ายหญิง (การรำคล้าย ๆ กับรำวง) โดยกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายและผู้เล่นจะร้องเพลงและปรบมือจังหวะ เป็นที่สนุกสนานกันทุกฝ่าย ทุกคน การเล่นวิธีนี้เรียกว่า “หญิงไหว้ชายรำ”
สำหรับผู้เล่นในครั้งนี้เพื่อการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมเก่า ๆ ของคนตากแดด เป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดหาดทรายแก้ว และเด็ก เยาวชน ประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร ๓ มิ.ย.๕๕

อ้างอิงจากหนังสือประวัติวัดประเดิมและพระบรมสารีริกธาตุ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร หน้า ๔๓-๔๔ และนายเหี้ยง แดงสนิท/นายชูเกียรติ เทพมณฑา วิทยากรในกิจกรรมฯ เมื่อ ๓ มิ.ย.๕๕

- วิ่งกระสอบ
ประวัติ
ของการเล่นวิ่งกระสอบ
ในสมัยโบราณการประกอบอาชีพของคนไทยในท้องถิ่นทุกภาคจะประกอบอีพหลัก คือ การทำนา หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำกระสอบป่านที่ใส่ข้าวเปลือก และเทข้าวเปลือกใส่ยุ้งฉางแล้ว มาใส่และจะวิ่งหรือกระโดดก็ได้ เมื่อไปถึงเส้นชัยใครเข้าสู่เส้นชัยก่อนจะเป็นผู้ชนะ นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษไทย หรือประเพณีสงกรานต์ สำหรับตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพรก็เช่นเดียวกัน นิยมเล่นในช่วงดังกล่าว
สำหรับผู้เล่นในครั้งนี้เป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดหาดทรายแก้ว และเด็ก เยาวชน ประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร ๓ มิ.ย.๕๕

ข้อมูลจาก นายชูเกียรติ เทพมณฑา วิทยากรในกิจกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ๓ มิ.ย.๕๕


อย่างที่ ๕ที่สำคัญพระหลักเมือง พระเสื้อเมือง

สมัยโบราณเจ้าผู้ครองเมือง จะสร้างพระเสื้อเมือง พระหลักเมืองไว้เป็นคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งบ้านวัดประเดิม หมู่ที่ ๒ ตำบลตากแดด ก็มีพระเสื้อเมืองและพระหลักเมือง ตั้งแต่โบราณมาและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่ ๖เกี่ยวเนื่องหนองหลวง

ประวัติความเป็นมา “หนองหลวง
หนองหลวง มีเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ในพื้นที่ หมู่ที่ ๒ ตำบลตากแดด สมัยโบราณเจ้าผู้ครองเมืองชุมพร ให้ราษฎรขุดดินในบริเวณนี้เพื่อนำไปสร้างป้อมปราการ ไว้รับศึกและนำมาทำอิฐสร้างอาคารที่พักอาศัยของเจ้าเมืองและข้าราชบริพาร บริเวณนี้จึงกลายสภาพเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่และมีชื่อว่า “หนองหลวง”
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร ได้จัดทำโครงการประมงหมู่บ้าน ทำนบปลาหนองหลวง เพื่อให้หนองหลวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบล และของจังหวัดชุมพร ใช้เงินงบประมาณในการขุดลอกคันดินปรับเป็นถนนรอบบริเวณหนองหลวง จำนวน ๖๗๘,๐๐๐ บาท และเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ จังหวัดชุมพร (มล.ประทีป จรูญโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด) ประมงจังหวัดชุมพร ประกอบพิธีปล่อยปลาจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ ตัว ลงในหนองหลวงแห่งนี้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้งบประมาณจากโครงการ SML จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างศาลาเพิ่มอีก ๒ หลัง เพื่อเป็นที่นั่งพักผ่อน ดูปลา ดูธรรมชาติและรับอากาศที่บริสุทธิ์ในช่วงเช้าและเย็น ณ ที่บริเวณแห่งนี้ ในการปรับปรุงหนองหลวงครั้งหลัง ก็ได้เจอเสากลางน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเสาโบสถ์กลางน้ำ

อ้างอิงจากหนังสือประวัติวัดประเดิมและพระบรมสารีริกธาตุ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร หน้า ๔-๕ และนายสมคิด พยุหกฤษ วิทยากรในกิจกรรมฯ เมื่อ ๓๑ พ.ค.๕๕

อย่างที่ ๗ศิลปะการทำรูปคนใหญ่วัดประเดิม

วัดประเดิมมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าปีใดมีงานเทศกาล หรือ งานประจำปี โดยทางวัดจะจัดขบวนแห่ที่บริเวณตลาดเมืองชุมพร ทางวัดก็จะจัดให้มีรูปหุ่นคนโบราณ ผู้ชาย ๑ คน ผู้หญิง ๑ คน ร่วมขบวนแห่ด้วย ซึ่งเป็นที่สนุกสนานกับผู้ที่มาร่วมขบวนแห่ โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดเมืองชุมพร ต่างร่วมกันทำบุญด้วยความศรัทธา

รูปหุ่นคนโบราณนี้สร้างสมัย พระปลัดพรัด วิมโล เป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ทางวัดจึงจัดให้เป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิงจากหนังสือประวัติวัดประเดิมและพระบรมสารีริกธาตุ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพรหน้า ๓๙และนายธีระวุฒิ ครุธนรสิงห์ วิทยากรในกิจกรรมฯ เมื่อ ๑ มิ.ย.๕๕

สถานที่ตั้ง
ตำบลตากแดด
หมู่ที่/หมู่บ้าน ๒ บ้านวัดประเดิม
ตำบล ตากแดด อำเภอ เมืองชุมพร จังหวัด ชุมพร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร
บุคคลอ้างอิง นางสุนทรี โพธิ์ทักษิณ
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร
หมู่ที่/หมู่บ้าน
ตำบล นาชะอัง อำเภอ เมืองชุมพร จังหวัด ชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86000
โทรศัพท์ ๐๗๗ ๕๐๗๗๕๓
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่