พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอำเภอสูงเม่น
อำเภอสูงเม่น เดิมเรียกว่า“บ้านสุ่งเม่น”ดังได้ยินมาว่าบริเวณที่วัดสูงเม่นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของ
ฝูงเม่นจำนวนมาก การที่สัตว์รวมกันอยู่เรียกว่า “สุ่ง” เป็นภาษาเดิมของชาวเมืองแพร่ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนี้แต่ก่อนเป็นที่ราบลุ่ม เป็นทุ่งหญ้าและป่าละเมาะ ประกอบกับเป็นที่มีท่าน้ำจึงเหมาะแก่การพักของพวกคนเดินทางในสมัยนั้น สมัยก่อนบ้านเมืองไม่เจริญ การคมนาคมไม่สะดวก การไปมาค้าขายหรือเดินทางไกลจึงต้องใช้ม้า ลา ฬ่อเป็นพาหนะ เมื่อพ่อค้าหรือคนเดินทางแวะจึงได้ปล่อยช้างไปหากินทางทิศตะวันออก ปัจจุบัน คือ “บ้านท่าช้าง” อยู่ในหมู่ที่ ๒ ของตำบลสูงเม่น ส่วนลาและฬ่อให้ไปทางใต้จึงเป็นบ้านท่าฬ่อ ปัจจุบันเพื้ยนเป็น “บ้านท่าล้อ” ส่วนม้าได้ปล่อยให้ไปหากินทางทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็น “บ้านท่าม้า” ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับดงหลวง โดยมีเรื่องเล่า
ว่าพวกพ่อค้าฮ่อนำม้าบรรทุกสินค้ามาขายและได้พักที่ป๋างสุ่งเม่น ปล่อยม้าหากิน ม้าได้เดินเข้าไปในดงหลวงจึงถูกงูใหญ่ฉกกิน พวกฮ่อจึงได้สืบหาสาเหตุได้ความว่างูที่อาศัยรูหลวงอยู่ในดงหลวงนั้นเองกินม้า ชาวบ้านจึงพากันหาวิธี
ฆ่างูตาย ซึ่งบริเวณนั้นจึงเป็นที่ตั้งของวัดพระหลวงในปัจจุบัน ต่อมาที่ป๋างสุ่งเม่นได้มีเจ้านายมาแวะพำนัก ชาวบ้านจึงได้สร้างที่ประทับไว้หลังหนึ่งเรียกว่า “หอฟ้า” แต่มักเรียกว่า “หอพลับพลา”ต่อมาถูกรื้อไปเมื่อครั้งก่อสร้างที่ว่าการอำเภอสูงเม่นนั่นเอง
ปี พ.ศ.๒๔๑๐ พระธรรมราชานุวัตร (ฟู อตตสิโวมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองวรวิหาร
ได้เปลี่ยนชื่อจาก “สูงเม่น” เป็น “สุ่งเม่น” ตามความหมายเดิมที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานของครูบามหาเถร (ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น ซึ่งขณะนั้นพระยาอนุมานราชธนเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานให้ความเห็นชอบทุกประการแต่อำนาจการเปลี่ยนชื่ออยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งคำว่า “สุ่งเม่น”ยังเป็นภาษาพูดของชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่แต่ภาษาทางราชการปัจจุบันยังใช้คำว่า“สูงเม่น”
ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ได้มีการจัดการปกครองออกเป็นตำบล หัวหน้าตำบลเรียกว่า“แคว่น”จัดการแบ่งออกเป็น ๑๗ ตำบล คือ ตำบลเวียงทอง ตำบลบ้านต๋อ ตำบลบ้านกาด ตำบลบ้านปง ตำบลพระหลวง ตำบลบ้านเหล่า ตำบลสบสาย ตำบลดอนมูล ตำบลสูงเม่น ตำบลท่าล้อ ตำบลหัวฝาย ตำบลนาตม ตำบลบวกโป่ง ตำบลบ้านโทน ตำบลป่าผึ้ง ตำบลบ้านกวาง ตำบลร่องกาด ขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองแพร่ โดยแต่ละตำบลแบ่งเขตการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน ผู้ปกครองหมู่บ้านเรียกว่า“หลัก”
ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๖ทางราชการได้แบ่งท้องที่ ๑๗ ตำบล ดังกล่าวออกจากอำเภอ เมืองแพร่ ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า“อำเภอแม่พวก”ตั้งที่ทำการอยู่ที่บ้านสูงเม่น หมู่ที่ ๖ ตำบลสูงเม่น หัวหน้าอำเภอเรียกว่า“นายแขวง”มีพระยาสุริยะภักดี ครองตำแหน่งนายแขวงเป็นคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒
ทางราชการได้เปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็น ผู้ใหญ่บ้าน กำนันและนายอำเภอ
ปี พ.ศ.๒๔๕๕ ทางรถไฟสายเหนือได้เปิดใช้บริการถึงสถานีรถไฟเด่นชัย หมู่บ้านแม่จั๊วะและเด่นชัยมีราษฎรไปทำมาหากินกันหนาแน่นขึ้น ทางราชการจึงยกฐานะให้เป็นตำบลแม่จั๊วะและตำบลเด่นชัยจึงทำให้อำเภอสูงเม่นมีจำนวน ๑๙ ตำบล
ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ทางราชการได้ยุบตำบลเล็กๆ ๖ ตำบล คือ ตำบลบ้านต๋อ ตำบลบ้านหลวง ตำบลท่าล้อ ตำบลบวกโป่ง ตำบลบ้านโทนและตำบลป่าผึ้งไปรวมกับตำบลอื่นจึงคงเหลือ ๑๓ ตำบลและเปลี่ยนชื่อตำบลนาตมเป็นตำบลน้ำชำ
ปี พ.ศ.๒๔๖๐ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก“อำเภอแม่พวก”เป็นอำเภอ“สุงเม่น”สำหรับ ที่ว่าการอำเภอคงตั้งอยู่ที่เดิม
๒
ปี พ.ศ.๒๔๗๑ ทางราชการได้เปลี่ยนคำว่า “สุงเม่น” เป็น “สูงเม่น” ซึ่งมีผลทำให้ “วัดสู่งเม่น”
(สุ่งเหม้น) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสูงเม่น” ตามชื่ออำเภอ
วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ทางราชการได้ปรับปรุงเขตการปกครองใหม่โดยยุบตำบลบ้านกวาง
ไปรวมกับตำบลบ้านเหล่าและยุบตำบลสบสายไปรวมกับตำบลร่องกาด คงเหลือ ๑๑ ตำบล ต่อมาภายหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ทางราชการได้ปรับปรุงตำบลอีกครั้งหนึ่งโดยแบ่งตำบลบ้านเหล่าออกเป็น ๒ ตำบลเช่นเดิม คือ ตำบลบ้านเหล่าและตำบลบ้านกวาง แบ่งตำบลร่องกาดออกเป็น ๒ ตำบลเช่นเดิม คือ ตำบลสบสายและตำบลร่องกาด คงเป็น ๑๓ ตำบล
ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้แบ่งตำบลแม่จั๊วะและตำบลเด่นชัย โดยให้เป็นกิ่งอำเภอเด่นชัยขึ้นตรงกับอำเภอสูงเม่น
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ยกกิ่งอำเภอเด่นชัยเป็นอำเภอเด่นชัย และอำเภอสูงเม่นจึงมีตำบล ๑๑ ตำบล ๖๔ หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนแต่ละชุมชนต่างก็มีวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ปัจจุบันอำเภอสูงเม่นได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ ตำบล ๑๑๐ หมู่บ้าน
ทำเนียบนายอำเภอสูงเม่น
อำเภอสูงเม่นเดิมเรียกว่า “อำเภอแม่พวก” มีหัวหน้าอำเภอในสมัยนั้นเรียกว่า “นายแขวง” โดยมี
“พระสุริยะภักดี”ดำรงตำแหน่งนายแขวงคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ทางราชการได้เปลี่ยนตำแหน่งจาก นายแขวงเป็น“นายอำเภอสูงเม่น”โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอสูงเม่น
๑. พระยาสุริยะภักดี
๒. หลวงไชยราษฎร์บำรุง
๓. ขุนอุทิศสถาน
๔. ขุนบริบาล
๕. ขุนบันเทิงทักษิณเขต
๖. ร.อ.ท.ขุนลิลิศบุรีรักษ์
๗. ร.อ.อ.หลวงพิทักษ์สุวรรณเขต พ.ศ.๒๔๖๑ – ๒๔๖๒
๘. ร.อ.อ.หลวงเจริญฐนิติ พ.ศ.๒๔๖๒ – ๒๔๖๓
๙. ร.อ.อ.หลวงระงับประจันตาตาม (โป๊ะ วัชรปาน) พ.ศ.๒๔๖๓ – ๒๔๖๖
๑๐. ร.อ.อ.หลวงอดุลย์เถียรเขต พ.ศ.๒๔๖๖ – ๒๔๖๗
๑๑. ร.อ.อ.พระบริบูรณ์บริหาร พ.ศ.๒๔๖๗ – ๒๔๗๐
๑๒. ร.อ.อ.หลวงศรีนราศัจ (ผิว จันทิมาคม) พ.ศ.๒๔๗๐ – ๒๔๗๖
๑๓. ขุนคุปตพงศ์ประพัทธ (เชื้อ คุ้มพงษ์) พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๗๘
๑๔. นายจำรัส ยินดีผล พ.ศ.๒๔๗๘ – ๒๔๗๙
๑๕. นายสุนทร สังขนนท์ พ.ศ.๒๔๗๙ – ๒๔๙๖
๑๖. นายภักดี สุนทรางกูล พ.ศ.๒๔๙๖ – ๒๔๙๖
๓
๑๗. นายบรรลือ น้อยมณี พ.ศ.๒๔๙๖ – ๒๕๐๒
๑๘. นายอนันท์ มีชำนะ พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๐๙
๑๙. นายวินัย สุวรรณกาศ พ.ศ.๒๕๐๙ – ๒๕๑๑
๒๐. นายวิเชียร อนันท์ พ.ศ.๒๕๑๑ – ๒๕๑๒
๒๑. นายจันทร์ แผงศร พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๑๓
๒๒. นายเรวัต สิงหเสมานนท์ พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๕
๒๓. นายทรงศักดิ์ ตันติวัฒนา พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๘
๒๔. นายเสริม กันกา พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๐
๒๕. นายมานพ ลังการ์พิณธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๒๓
๒๖. นายประภัศร์ แก้วโพธิ์ พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๒๘
๒๗. นายวิทยา สุขิตานนท์ พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๓๐
๒๘. นายสมศักดิ์ บุญเปลื้อง พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๒
๒๙. นายไพบูลย์ ชาญศิลป์ พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๕
๓๐. นายเสรี เสือแสงทอง พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๙
๓๑. นายอเนก คุ้มพงษ์ พ.ศ.๒๕๓๙ – ๒๕๔๒
๓๒. นายชวลิต เมฆจำเริญ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ – ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
๓๓. นายพิบูลย์ชัย พันธุลี ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
๓๔. นายมนัททวี วจนะเสถียร ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ – ๗ มกราคม ๒๕๕๐
๓๕. นายสานิต เขมวัฒนา ๘ มกราคม ๒๕๕๐ – ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔
๓๖. นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
๓๗. นายวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ ถึงปัจจุบัน