“หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาน้ำค้าง ที่มีความน่าสนใจในหลายด้านอาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่าย อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของสมาชิกในชุมชน เมื่อครั้งอดีตตอนเป็น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กรม 10 เป็นหน่วยปฏิบัติการย่อย ที่ได้ทำการสู้รบกับ รัฐบาลมาเลเซีย สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองการปกครอง จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกันมายาวนานหลายสิบปี กระทั่งมีการเจรจาสันติภาพในปี 2532 รวมทั้งเซ็นสัญญายุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ โดยมี รัฐบาลไทย เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่าง รัฐบาลมาเลเซีย กับ พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา หลังจากนั้นทางพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ และสลายกองกำลังเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นชื่อ “บ้านรัตนกิตติ 4” ที่ ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “หมู่บ้านรัตนกิตติ 4” เข้าร่วมโครงการของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536
“หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ผู้คนได้สัมผัสเช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ร่องรอยและเรื่องราวจากการถ่ายทอดของอดีต สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ในเรื่องอนุสรณ์สถาน สถานที่รำลึกถึงวีรชนผู้ร่วมกันสร้างสันติสุขและเอกภาพพิพิธภัณฑ์ชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่าย อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของสมาชิกในชุมชน เมื่อครั้งอดีตตอนเป็น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กรม 10
กิจกรรมซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่คือ การล่องแก่งพายเรือคยัก นักท่องเที่ยวจะได้ใกล้ชิดกับสายน้ำและธรรมชาติอันร่มรื่น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่เขียวชอุ่ม ถูกปกคลุมด้วยร่มไม้เย็นสบายดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัวที่บริสุทธิ์ ผ่อนคลายได้เต็มที่ ซึ่งแม้ภาพสิ่งที่เห็นคือความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แต่ในอดีตที่นี่ต้องเผชิญกับวิกฤติความแห้งแล้ง และความเสื่อมโทรมจากการทำลายป่าชุมชน
สิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้คือการเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ที่มีความเป็นมาน่าสนใจเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประกอบจากกระบอกไม้ไผ่ ทั้ง “ซุปคอมมิวนิสต์” และอีกหลากหลายเมนูรวมทั้งจิบชา “อูบีซาไก” ซึ่งมีที่มาจากซาไกคนหนึ่งนำมาให้ชาวบ้าน จะได้ชารสชาติดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีการแสดงรำพัดจากน้องๆ บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12
ด้านนายอภิสิทธิ์ บินซา ประธานชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 กล่าวว่า หมู่บ้านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับวิถีชีวิตคนในชุมชน และการทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
“หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” มีการ บริหารจัดการอย่างเป็นระบบทำให้ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนรวมทั้งมีต้นทุนทางด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ทำให้หมู่บ้านสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้
อ้างอิงเว็บไซต์ https://www.thairath.co.th/news/local/south/1700646