ตั้งอยู่ที่บ้านท้อน หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีเนื้อที่ประมาณ ๓๖ ไร่ วัดมีพื้นที่เป็นที่ดอนริมแม่น้ำ แล้วลาดต่ำลงมทางทิศเหนือ และทิศใต้ บริเวณรอบๆวัดชาวบ้านทำสวนมะพร้าว
ประวัติความเป็นมา
ตั้งมานานก่อนพ.ศ.๒๔๘๔ วัดนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางชุมชนโบราณ คงสร้างมานาน แต่ไม่ปรากฏประวัติที่แน่ชัด ถูกทั้งร้างมาในบางสมัย เจ้าอาวาสองค์หนึ่งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูประจักษ์วรคุณ เป็นที่เลื่อมในศรัทธาของชาวบ้านมาก ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๗๐ เศษ มาจนถึง พ.ศ.๒๕๑๕ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เจริญรุ่งเรืองกว่าวัดใดๆในแถบนี้ ท่านเล่ามาว่า พม่ามาตีเมือง เผาวัด อาราม ผู้คนตายศพเกลื่อน ทำให้เป็นที่มาของวัดประสพคือ พบเหตุเพทภัย
หลักฐานทางโบราณคดี
สิ่งก่อสร้างโบราณ ซึ่งสร้างด้วยไม้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจึงถูกรื้อถอนสร้างใหม่คงมีแต่อุโบสถหลังเก่าซึ่งแต่เดิมสร้างด้วยไม้ทั้งหลังปล่อยฝาโล่งทั้งสี่ด้าน แต่ต่อมากั้นผนังด้วยอิฐถือปูน ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปศิลาทรายแดงฝีมือช่างพื้นเมืองหลายองค์ มีพระศิลายวง ๓ องค์ ซึ่งนำมาจากพม่า แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านำมาเมื่อใด นอกจากนั้นยังมีพระแกะสลักด้วยไม้ฝีมือช่างพื้นบ้านอีกหลายองค์ แต่ส่วนใหญ่ชำรุด ปัจจุบันพระอุโบสถซึ่งสร้างด้วยไม้กำลังชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากปลวกทำลายเครื่องบน ส่วนที่ยังดูคงทนก็เฉพาะเสากลมของอุโบสถเท่านั้น พระพุทธรูปศิลาทรายแดงมีการลงรักปิดทองจนดูเป็นของใหม่ สำหรับพระศิลายวงบางองค์มีการเจาะพระเคียรใส่ยอดแหลม ทำให้รูปลักษณ์ผิดแปลกไป