ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 20' 52.391"
17.3478864
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 59' 14.7149"
99.9874208
เลขที่ : 157365
อำเภอศรีนคร
เสนอโดย boonchuboonchu วันที่ 11 กันยายน 2555
อนุมัติโดย สวจ.สุโขทัย วันที่ 12 กันยายน 2555
จังหวัด : สุโขทัย
1 1374
รายละเอียด

ชื่อบ้าน นามเมือง อำเภอศรีนคร
อำเภอศรีนคร เป็นเพียงหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่ง ของ ตำบลนครเดิฐ ซึ่งขึ้นตรงกับอำเภอสวรรคโลก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีการแบ่งแยกเขตพื้นที่การปกครองพื้นที่ตำบลนครเดิฐ ตั้งเป็นตำบลศรีนคร ชื่อ “ศรีนคร” นั้น มาจากการนำเอาพยางค์ต้นของคำว่า “นครเดิฐ” มาเป็นพยางค์ต่อท้ายของพยางค์คำว่า “ศรี” เพื่อให้เป็นชื่อใหม่ที่เป็นศิริมงคล
ประวัติศาสาตร์ชุมชน อำเภอศรีนครบริเวณเขาเขน เขากา หมู่ที่ ๙ ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เดิมเป็นป่าไม้เบญจพรรณ อยู่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ปี พ.ศ.๒๕๐๑ นิคมสหกรณ์สวรรคโลก ได้ขนหินลูกรังจากเขาเขน เขากา มาจัดทำถนนรวมทั้งสิ้น ๒๔ กิโลเมตร มีการพบว่า มีเครื่องมือประเภทอาวุธสำริดติดมากับลูกรังที่เทลาดทำเป็นพื้นถนนในเขตอำเภอศรีนคร จึงมีการเก็บไว้เป็นหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ของท้องถิ่น ปัจจุบันบนยอดเขาเขน เขากา ชาวบ้านได้นำรถแทรกเตอร์ปรับกวาดเสาศิลาแลง และพื้นวิหารทิ้งสร้างศาลาการเปรียญทับที่ตั้งเดิมของโบราณสถาน เหลือหลักฐานที่ยังมิได้ถูกรบกวนเพียงบ่อน้ำกรุด้วยศิลาแลง ๑ บ่อ ชาวบ้านเรียกว่า บ่อช้างล้วง เพราะฤดูแล้งช้างป่าชอบมาจุ่มงวงดูดน้ำบ่อกิน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของนายพรานและชาวบ้านมาแต่อดีต แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ เขาเขน เขากา นี้เคยปรากฏอยู่ในแผนที่ประเทศไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ของอาจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่บัดนี้ รัฐบาลมิได้มีการศึกษา สำรวจ และพิมพ์รายงานเพื่อการศึกษาอ้างอิงแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ พระยายอดเมืองขวาง ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก ได้กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ริมคลองยมเก่ามีวัดโบราณ ๓ วัด ชาวบ้านเรียกว่า วัดโป่งมะขามวัดสะแก วัดกรงนก เข้าใจว่าผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก คงจะหมายถึงวัดโบราณ ในเขตตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก ปัจจุบันนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์จดหมายเหตุเท่าที่พบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติกล่าวถึง บริเวณระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน นี้ว่า “นครเดิต”
ทนายหน้าหอเจ้าเมืองสวรรคโลกใน พ.ศ.๒๔๒๘ เขียน “นครเดิต”สะกดด้วย ต.เต่า ดังต่อไปนี้
“..ป่าไม้ขอนสักตำบลป่าวังแร่ วังยาง ป่าสมุย ดงละครเดิต ไผ่ตะล่อม คลองชิง เขากา เขาเขนยังไม่มีผู้ใดจับจอง.. ราษฎรมีชื่อชายหญิงยี่สิบราย บ้านนาตาลพร้า แขวงเมืองสวรรคโลก พากันลากเข็นไปรวมไว้ที่หมอน และมุงหนองปลิง แขวงเมืองพิชัย... " (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ .ร.๕ ม ๒. ๑๒ก/๗ ใบบอกเมืองสวรรคโลก หน้า ๒๔) แสดงว่า นครเดิฐ เป็นชื่อป่าไม้ และชุมชนกลางป่าพูดภาษาไทย ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมาอย่างน้อย ๑๐๗ ปีผ่านไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ รัฐบาลแห่งกรุงเทพมหานครได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ โดยให้มีการเลือกตั้งกำนันเป็น ขุน ผู้ใหญ่บ้านเป็น หมื่นนายเพชร ต้นสกุลสุริยัน ราษฎรบ้านหนองแหนได้รับเลือกเป็นผู้นำชุมชนและรับพระราชทานทินนามว่า “ขุนนครเดิฐเดชา” ตำแหน่งกำนันตำบลนครเดิฐ นายเขียน ต้นสกุลทิมเอม ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านตาลพร้า ได้รับพระราชทานทินนามว่า หมื่นเขียนขันติคุณ วันที่ ๑๕สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ กรมรถไฟหลวงได้เปิดหวูดเดินรถ จากพิษณุโลก ถึง ชุมทางบ้านดารา ถึง คลองมะพลับ ถึง คลองยาง สุดปลายทางที่สถานีสวรรคโลก เป็นวันแรก(ประชุม อัมพุนันท์. เที่ยวไปในอดีต.หน้า ๒๖) สถานีคลองมะพลับนั้น ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนนครเดิฐมาก ทำให้ชาวบ้านเคลื่อนย้ายอพยพมาอยู่ริมทางล้อทางเกวียน ระหว่างชุมชนนครเดิฐกับสถานีคลองมะพลับกันมาก โดยเฉพาะหลังสถานีคลองมะพลับต้นทางที่จะไปชุมชนนครเดิฐ มีนายฮี้ แซ่กิม ตั้งเรือนอยู่ตะวันตก ถนน ๒ ห้องแถว เฒ่าแก่เอ๊ เมียชื่อบัว ไม่ทราบแซ่ ตั้งเรือนอยู่หน้าสถานีคลองมะพลับ เรือน สามครอบครัวดังกล่าวมานี้ เป็นต้นกำเนิดการก่อตั้งตลาดคลองมะพลับหรือตลาดศรีนคร ในปัจจุบัน
ตำบลศรีนครนั้นแยกพื้นที่ออกจากตำบลนครเดิฐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑(รายงานกิจการของจังหวัดสุโขทัย ๒๕๐๑ หน้า ๔๑๙) พร้อมนั้นกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้อำเภอสวรรคโลก จัดตั้งสุขาภิบาลคลองมะพลับ ตามประกาศลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙๙ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่เพิ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๑ เดิมโรงเรียนมัธยม ศึกษาประจำตำบลนครเดิฐ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านคลองมะพลับ ชื่อโรงเรียนเมืองนครเดิฐ สอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เมื่อแยกพื้นที่เป็นตำบลศรีนครแล้วจึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนศรีนคร ตามชื่อตำบลชุมชนหลังสถานีคลองมะพลับจึงเดินมาถึงสุขาภิบาลศรีนคร เนื้อที่ ๓.๔๖๕๑ ตารางกิโลเมตร และตำบลศรีนคร ในที่สุดได้สถาปนาเป็นกิ่งอำเภอศรีนคร เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๙ กิ่งอำเภอศรีนครมีเขตการปกครองเพียง ๒ ตำบล ๒๑ หมู่บ้าน คือตำบลศรีนครมี ๑๓ หมู่บ้าน และตำบลนครเดิฐ มี๘ หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้แยกตำบลเพิ่มอีกคือ ตำบลคลองมะพลับ แยกจากตำบลศรีนคร และตำบลน้ำขุมแยกไปจากตำบลนครเดิฐ รวมเป็น ๔ ตำบล แล้วในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอศรีนครจัดตั้งเป็นอำเภอศรีนคร(ทำเนียบท้องที่พุทธศักราช ๒๕๓๑ หน้า ๑๒๘๔) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้แยกตำบลหนองบัว จากตำบลคลองมะพลับอีก และแยกหมุ่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น ๕ ตำบล และมี ๔๙ หมู่บ้าน ประกอบด้วย ตำบลนครเดิฐ มี ๑๑ หมู่บ้าน ตำบลศรีนคร มี ๑๐ หมู่บ้าน ตำบลน้ำขุม มี ๑๐ หมู่บ้าน ตำบลคลองมะพลับ มี ๑๐ หมู่ และตำบลหนองบัว มี ๘ หมู่บ้าน

คำสำคัญ
อำเภอศรีนคร
สถานที่ตั้ง
อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
หมู่ที่/หมู่บ้าน อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ถนน ประชาชื่น
ตำบล ศรีนคร อำเภอ ศรีนคร จังหวัด สุโขทัย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หนังสือกว่าจะเป็นวันนี้ศรีนคร
บุคคลอ้างอิง นายบุญชู พวงกุหลาบ
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอศรีนคร
หมู่ที่/หมู่บ้าน 3/บ้านศรีนคร ถนน ประชาชื่น
ตำบล ศรีนคร อำเภอ ศรีนคร จังหวัด สุโขทัย รหัสไปรษณีย์ 64180
โทรศัพท์ 0895372973
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่