เนื่องจากสัตบุรุษของสกลนครยังไม่มีวัดเป็นเอกเทศ มุขนายกลอเรนซ์คายน์ แสนพลอ่อน จึงนำเรื่องการสร้างวัดพระหฤทัย สกลนครขึ้นในเขตเทศบาลเมืองสกลนครต่อคณะสงฆ์และให้วัดใหม่นี้อยู่ระหว่างโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนครกับสำนักอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงบนเนื้อที่ดิน ๓๘ ไร่ ตามแผนแม่บทที่วางไว้ การก่อสร้างพระหฤทัยได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ปีต่อมาเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยและทวีปเอเชีย ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงมาก การก่อสร้างวัดจึงประสบปัญหาอุปสรรคแต่ก็ยังดำเนินการต่อไป และก็มีหลายคนได้เสนอให้นำดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์มาร่วมกับดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าให้เป็นนามชื่อวัดใหม่นี้ โดยตั้งชื่อว่า “สักการสถานดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยชูเจ้าและดวงหทัยนิรมลของพระมารดามารีอา” (The Aliance of the two hearts) การก่อสร้างดำเนินไปทีลัเล็กทีละน้อย เพราะงบประมาณที่จำกัด ความตั้งใจที่แน่วแน่ของมุขนายกลอเรนซ์คายน์ แสนพลอ่อนคืออยากเห็นการก่อสร้างสักการสถานฯ นี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางศาสนา สำหรับเก็บรักษาศาสนภัณฑ์ และสิ่งของเครื่องใช้ของมิซซันนารีในอดีตด้วย ในที่สุดการก่อสร้างสักการสถานฯ แห่งนี้ได้ดำเนินจนเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเปิดอย่างยิ่งใหญ่โอกาสสมโภชปีปิติมหาการุญ ๒๐๐๐ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ เวลา ๑๕.๐๐ น. โดยมุขนายกลอเรนซ์คายน์ แสนพลอ่อน, มุขนายกยออากิมพเยาว์ มณีทรัพย์และมุขนายกยอห์น บอสโกมนัสจวบสมัย ร่วมกับบรรดาบาทหลวงและสัตบุรุษจากวัดคริสต์ต่างๆ ทั่วประเทศจำนวนมาก พิธีดังกล่าวเริ่มด้วยการกล่าวรายงานประวัติความเป็นมาของสภาอภิบาลวัด ต่อด้วยการกล่าวขอบคุณของมุขนายกลอเรนซ์คายฯ แสนพลอ่อน และเปิดแพรคลุมป้ายสักการสถานฯ ร่วมกับมุขนายกพเยาว์ฯ และมุขนายกมนัส นายบุญศรี ประธานฝ่ายฆราวาสร่วมเปิดแพรคลุมป้ายสักการสถานฯ ด้วย หลังจากนั้นจึงเป็นพิธีเสกและพิธีสหบูชามิสซาในสักการสถานฯ อย่างสง่างาม นับเป็นสักการสถานฯ ที่ใหญ่โต สวยงามตระการตาและพิศวงแก่ผู้พบเห็นเพราะเป็นสักการสถานฯ ที่ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะทรงกลม รูปทรงคล้ายเจดีย์ยอดแหลม ตรงกลางยอดมีกางเขนตั้งเด่นเป็นสง่า ความสูงจากพื้นถึงยอดแหลม ๔๗ เมตร ตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมแบบไทยกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและสวยงาม โดยเฉพาะบริเวณพระแท่น ตู้ศีลและผนังตู้ศีลที่ได้รับการแกะสลักปูนปั้นได้อย่างวิจิตรบรรจง เชื่อแน่ว่าสักการะสถานฯ แห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่เชิดหน้าชูตาและดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสกลนครอย่างแน่นอน ความจุ ๓๖๐ คน (ผู้ให้ข้อมูลบาทหลวงวีระเดช ใจเสรี อธิการโบสถ์วัดพระหฤทัย สกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โทร.๐๘๑๙๖๕๕๘๗๗)