เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดหน้าตักกว้าง 42 ซ.ม. สูง 76 ซ.ม.ประทับนั่งขัดสมาธิ ราบ แสดงปางมารวิชัย ศิลปแบบลาวจารึกเป็นภาษาพื้นเมืองที่ส่วนฐานรวม 3บรรทัด ซึ่งหลวงปู่ขุนราม ญาณธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุสวนตาล ได้อ่านคำจารึกที่มีอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูป ซึ่งได้ความว่า “สังกาศราชาได้ 144 ตัวปีเต้ายี่ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ วันอาทิตย์ พระมหาธรรมเทโวเจ้ามีใจใสศรัทธาสร้างพระพุทธรูปองค์นี้มีทองสองหมื่น เจ้าขนานคำมะลุนเป็นผู้รจนา” จากตัวเลขศักราชดังกล่าวถ้าจะตีความตามแบบที่คุณวัชรินทร์ พุ่มพงษ์แพทย์ ซึ่งได้ตีความในจารึกแผ่นลานทองแดงเกี่ยวกับปีที่บูรณะซ่อมแซมพระธาตุพนมแล้ว พระธรรมเทโวก็ต้องสร้างในวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล พ.ศ.2325 (หรือราว 224 ปี) ซึ่งเป็นช่วงก่อนตั้งกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่เดือน จากการตีความในคำจารึกใต้ฐานพระธรรมเทโวดังกล่าวนั้นทำให้มีผู้ที่สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าคำแปลจารึกดังกล่าวว่าใครเป็นผู้สร้าง และมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร จากการศึกษาได้ทราบว่า ใต้ฐานพระพุทธรูปที่มีข้อความว่า “พระมหาเทโวเจ้า”กับตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ที่ว่า “ตั้งให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช”ทำให้เชื่อว่า คำจารึกที่ปรากฏทั้งที่ใต้ฐานพระธรรมเทโวและชื่อที่ปรากฏอยู่ในตำนานของเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน คือเป็นชื่อของอุปราชธรรมเทโว ซึ่งเป็นอุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยกุมารเป็นเจ้าเมือง ตามตำนานพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ได้บอกไว้ว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร มีโอรส 4 องค์ ก็คือ เจ้าไชยกุมาร เจ้าธรรมเทโว เจ้าสุริโย และเจ้าโพธิสาร ดังนั้น “พระธรรมเทโวเจ้า”ที่ปรากฏอยู่ในคำจารึกที่ฐานพระธรรมเทโว คงเป็นอุปราชธรรมเทโวแน่นอน จากที่กล่าวมาแล้วนี้ก็พอที่จะเชื่อได้ว่า พระธรรมเทโว ที่วัดธาตุสวนตาลนี้ สร้างขึ้นโดยอุปราชธรรมเทโว เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล พ.ศ.2325 (หรือราว 224 ปี) ส่วนที่ว่าได้มาประดิษฐานที่บ้านชีทวนเมื่อใดนั้น ก็น่าจะราว ปี 2352 อันเป็นปีที่ที่ชาวบ้านชีทวนได้เดินทางไปหาวัสดุในการใช้ซ่อมแซมพระธาตุสวนตาล และได้มีการพระธาตุที่นครจำปาศักดิ์จริงตามคำบอกเล่าและได้พระธรรมเทโวมาเป็นรางวัล และประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุสวนตาลจนปัจจุบัน
ซึ่งพระธรรมเทโว หรือชาวบ้านเรียกว่า พระเทโว ซึ่งเป็นพระคู่บ้าน คู่เมืององค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อปีใดที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านก็จะนิมนต์ลงไปแห่รอบๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล และเพื่อให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จนเกิดปะเพณีแห่พระธรรมเทโว ขึ้นทุกปี