พวนชาวพวนในจังหวัดหนองคายส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงหรือทิศตะวันตกของจังหวัดหนองคาย คืออำเภอศรีเชียงใหม่ กิ่งอ.โพธิ์ตาก และอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี (ในอดีตขึ้นกับจังหวัดหนองคาย) ชาวพวนที่อำเภอศรีเชียงใหม่อพยพมาจากแคว้นเชียงขวางที่อยู่ติดกับชายแดนเวียดนามเดิมขึ้นกับอาณาจักรล้านช้าง ภายหลังเกิดเหตุสงครามบ้านเมืองไม่สงบ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าเมืองหัวหน้าอพยพผู้คนมาอาศัยอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทั้งนี้การอพยพชาวพวนรวมทั้งคนในท้องถิ่นหนองคายปัจจุบันทำให้เมืองใหม่คือเมืองหนองค่าย (หรือหนองคายปัจจุบัน) มีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้หนองคายมีพัฒนาการเป็นหัวเมืองสำคัญทางอีสานเหนือมาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ชาวพวนที่อพยพมาอยู่ ศรีเชียงใหม่และ กิ่ง อ.โพธิ์ตาก(บ้านโพธิ์ตาก) น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวพวนที่บ้านกลางใหญ่ และชาวพวนที่อำเภอบ้านผือด้วย
ชาวพวนจะพูดลากเสียงยาวคำสุดท้ายและพูดเยิ่นเยื้อ พูดไปยิ้มไปเพราะคนพวนชอบยิ้มแย้มแจ่มใส คนส่วนใหญ่แล้วผิวขาวใส รูปร่างหน้าตาดีกันทุกคน มีคำศัพท์ที่แปลกไปจากคนอีสานทั่วไปอยู่มากโดยเฉพาะในอดีต ศัพท์บางคำของชาวพวนคนลาวอีสานฟังไม่รู้จักเลยก็ว่าได้ เช่น บักโอ่ย แปลว่า ฝรั่ง ที่คนอีสานเรียก “หมาก,หมัก สีดา” มะพร้าว คนพวนก็ว่า “มะพรั้ว” ส้มโอ คนพวนก็เรียก “หมากพุก” คำที่พูดกันออกมาแล้วฟังออกเลยว่าใช่คนพวนหรือไม่ก็คือคำว่า “บ่แม้น” ฟังแล้วต่างกับคนอีสานที่พูดว่า “บแมน” เฉยๆ ไม่ลากเสียงยาวคำสุดท้ายเหมือนชาวพวน
ชาวพวนได้ชื่อว่าเป็นคนขยันทำมาหากินและชอบทำการค้าขายถ้าเปรียบเทียบกับชาวอีสานในถิ่นหนองคายอื่นๆ ชุมชนพวนในจังหวัดหนองคายถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่จนสามารถตั้งเป็นเขต ตำบล และอำเภอได้ ส่วนประเพณี ขนบธรรมเนียมของชาวพวนบางประเภทก็ผสมปนเปไปกับชาวอีสานทั่วไปแล้ว จนเกือบสูญประเพณีเดิม เช่น กาวสาว (เกี้ยวสาว)