ต้นกระจูด ชอบขึ้นในที่ ๆ มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” หรือชาวพื้นเมืองทางภาคใต้เรียกว่า “โพระ” ต้นกระจูดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะมีขนาดเล็ก และไม่ยาวนัก
กระจูด เป็นไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก ลำต้นมีลักษณะกลม ภายในกลวง ขนาดเท่าก้านธูป สูง 1-3 ม. ซึ่งปกติแล้วจะพบมากในแถบภาคใต้ และสำหรับภาคตะวันออกมีเพียงแห่งเดียวคือที่บึงสำนักใหญ่ ชาวบ้านในแถบบ้านมาบเหลาชะโอนได้นำเอาต้นกระจูดเหล่านี้มาสานเป็นเสื่อเพื่อใช้สอยภายในครอบครัว แต่เป็นการทำอย่างง่าย ๆ ไม่มีสีสันและลวดลาย ส่วนใหญ่ทำไว้ใช้เอง ต่อมาได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ เป็นการเสริมรายได้ให้กับครอบครัว ยังเป็นการสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาจนถึงปัจจุบัน
วิธีการและขั้นตอนหลังจากตัดกระจูดมาแล้ว ก็นำไปย้อมดินนวลลักษณะคล้ายน้ำโคลน เพื่อให้เส้นกระจูดนิ่ม ไม่กรอบ หรือหักง่าย แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งอย่างน้อย ๑ วัน จากนั้นแยกเส้นกระจูดตามขนาดต่าง ๆ แล้วนำไปรีดให้แบนด้วยท่อปูน หากต้องการให้เส้นกระจูดมีสีสันสวยงามก็นำไปย้อมสีที่ต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ ๑๐ นาที แล้วจึงนำขึ้นมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นจึงนำเส้นกระจูดมาตีให้นิ่มอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปสานผลิตภัณฑ์ตามต้องการ ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านมาบเหลาชะโอนจักสาน ได้แก่ ตะกร้ารูปทรงต่าง ๆ เช่น ทรงกลม ทรงเหลี่ยม ทรงเปล ทรงหกมุม เป็นต้น กระบุง ถาดใส่ผลไม้ หมวก กล่องทิชชู กล่องสบู่ กระจาด หมอน แจกัน เสื่อกระจูด ตะกร้า หมวก และกระเป๋า