ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 45' 44.3412"
13.762317
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 28' 43.8708"
100.478853
เลขที่ : 166526
ขันลงหินบ้านบุ
เสนอโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 31 ตุลาคม 2555
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
0 3682
รายละเอียด

ขันลงหิน หรือเครื่องทองลงหิน เป็นงานฝีมือของช่างโลหะสำริดไทยที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งนี้สำริด หายถึงโลหะผสมที่มีทองแดงเป็นองค์ประกอบหลัก และมีดีบุกเป็นองค์ประกอบรอง ที่ช่างโลหะผสมเขาไปในทองแดงประมาณร้อยละ 10-20 ของส่วนผสมทั้งหมด ส่วนเนื้อโลหะสำริดที่เรียกว่าทอง ที่ใช้ทำขันลงหิน ก็คือโลหะสำริดชนิดที่มีดีบุกผสมในปริมาณสูงกว่าร้อยละ 20 ของส่วนผสมทั้งหมด ปัจจุบัน แหล่งผลิตขันลงหินหรือเครื่องทองลงหินเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ คือที่บ้านผลิตขันลงหิน “เจียม แสงสัจจา” ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านบุ เขตบางกอกน้อย

บ้านบุ ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบากอกน้อยฝั่งใต้ หลังสถานีรถไฟธนบุรี ยาวขนานไปกับลำคลอง ประมาณ 800เมตร จนถึงบริเวณวัดสุวรรณราม บ้านบุเป็นย่านที่ทำขันลงหินหรือขันบุมาแต่โบราณ ในสมัยรัชการที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา โดยบรรพบุรุษของชาวบ้านบุเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพมาหลังจากเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310

คำว่า “บุ” หมายถึงการตีให้เข้ารูป ใช้กับงานโลหะ การทำขันบุของชาวบ้านบุให้ทองสัมฤทธิ์ คือการนำโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก เป็นวัตถุดิบในการผลิต หรือที่เรียกว่า “เครื่องสมฤทธิ์” การนำทองสัมฤทธิ์มาตีแผ่นขึ้นรูปเป็นภาชนะ ในงานช่างเรียกว่าการบุ ดังนั้นจึงเรียกภาชนะดังกล่าวว่า “เครื่องบุ” และเนื่องจากขั้นตอนการขัด ใช้หินเป็นก้อนขัดภาชนะจนขึ้นเงาจึงเรียกว่า “เครื่องทองลงหิน”

ขั้นตอนการทำเครื่องทองลงหิน มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1การหลอมและการตี การตีเริ่มต้นโดยการตีแผ่ ทำเพื่อแผ่แผ่นทองให้ได้ขนาดเส้นผ้าศูนย์กลางตามต้องการ โดยช่างนำแผ่นทองมาซ้อนกันครั้งละ 4-5 แผ่น แล้วแต่ขนาดของแผ่นทอง แล้วใช้คีมคีบให้แน่น จากนั้นจึงค่อยๆ ตีจากบริเวณตอนกลางของแผ่นทองไล่ออกไปยังขอบ โดยต้องเผาไฟสลับกับการตีไปเรื่อยๆ และต้องระวังไม่ตีในขณะที่แผ่นทองยังร้อนแดง หรือเย็นจนเปลี่ยนเป็นสีดำ เพราะจะทำให้แผ่นทองแตกเสียหาย เรียกว่า “แตกแดง” และ “แตกดำ” เวลาตีช่างและลูกมือจะตีสลับกันเป็นจังหวะ พยายามให้รอยค้อนแต่ละครั้งที่ตีซ้ำรอยเดิมครึ่งรอย เรียกว่า “การตีแบบเกี่ยวห่วง” โดยระหว่างตีช่างต้องค่อยๆ หมุนแผ่นทองเป็นวงกลม ปกติเมื่อตีครบรอบแผ่นทองก็จะเย็นหรือเปลี่ยนเป็นสีดำ ต้องนำเข้าเผาไฟใหม่อีกครั้ง

ขั้นตอนที่ 2 การลาย เป็นการตกแต่งเพื่อเก็บรอยค้อนต่อจากการตีขึ้นรูป และแต่งเนื้อของภาชนะให้เรียบตึงไม่แห้ง หรือมีเนื้อหย่อน ไม่เป็นรูปทรงชัดเจนโดยเมื่อลายแล้วต้องได้รอยเป็นลักษณะแบบเมล็ดข้าวเม่า คือเป็นทรงรีคล้ายเมล็ดข้าว

ขั้นตอนที่ 3 การกลึง เป็นการขัดเอาผิวภาชนะออกเพื่อให้เห็นสีทองของเนื้อสำริด ซึ่งการเอาสีดำที่ผิวภาชนะออกนี้จะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า หรือผู้สั่งทำด้วย การกลึงเริ่มจากเอาภาชนะไปวางบนเตาไฟ จนร้อน เอาชันที่เคียวจนขน มาทาที่ก้นภาชนะแล้วเอาไปติดกับภมร ภมรที่ใช้กลึงแต่เดิมใช้การชักรอก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ส่วนชันสำหรับติดภาชนะกับภมรนั้น ไดมาจากชันยาเรือผสมกับไขเนื้อที่เติมในสัดส่วนที่ถูกต้อง โดยช่างจะใช้เหล็กกลึงเริ่มกลึงจากจุดศูนย์กลางของภาชนะ สามารถกลึงได้ทั้งด้านนอกและด้านในภาชนะ กรณีกลึงทั้งด้านนอกและด้านในเรียกว่า กลึงขาว กรณีกลึงเฉพาะด้านใน และเหลือเนื้อสีดำที่ด้านนอกเรียกว่า กลึงดำ

ขั้นตอนที่ 4 การกรอ คือ ช่างจะนำตะไบมากรอ หรือถู ขอบปากภาชนะให้เรียบเสมอกัน แต่เดิมเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ขึ้นตะไบ” เนื่องจากช่างจะใช้ตะไบเป็นเครื่องมือในการตกแต่ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องกรอไฟฟ้าตกแต่งแทน โดยในการกรอนั้น ช่างจะนำน้ำใส่กะละมังไปรองไว้ใต้หินขัดนำปากภาชนะที่ช่างลายกันไว้ให้ไปกรอกับหินขัดที่ติดมอเตอร์ไฟฟ้าและตั้งหมั่นสังเกตว่าขอบปากภาชนะเรียบเสมอกันหรือไม่ ขณะที่กรอจะมีเศษผงทองหลุดออกมาตกลงในกะละมังและจมน้ำ จากนั้นช่างจะค่อยๆ เทเศษฝุ่นละอองที่ลอยอยู่เหนือน้ำทิ้งไป ส่วนเศษทองที่ยังเปียกอยู่ก็นำไปคั่วในกระทะให้แห้ง แล้วจึงนำกลับมาหลอมใหม่ได้

ขั้นตอนที่ 5 การเจียร ในสมัยโบราณไม่มีขั้นตอนนี้ แต่ปัจจุบันได้นำเครื่องเจียรไฟฟ้ามาแต่งรอยตำหนิต่างๆ บนภาชนะ ด้วยการเก็บเม็ด ซึ่งหมายถึงการตกแต่งผิวภาชนะให้เรียบ โดยใช้แผ่นเจียรโลหะเนื้อหยาบ เพื่อเก็บริ้วรอยต่างๆ บนภาชนะ แต่หากภาชนะชิ้นนั้นไม่มีรอยก็จะข้ามไปขั้นตอนการแต่งผิว ซึ่งหมายถึง กรตกแต่งผิวภาชนะให้เรียบขึ้นอีก หรือตกแต่งริ้วรอยอันเกิดจากขั้นตอนการเก็บเม็ดอีกทีโดยใช้แผ่นโลหะเนื้อละเอียดแต่งให้ทั่วผิวภาชนะ เพื่อให้ง่ายต่อขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 การขัด เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้เกิดความมันวาว ปัจจุบันการขัดเงาเริ่มจากการใช้ลูกทรายติดมอเตอร์ขัดเงาก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ช่างต้องหมุนภาชนะไปตามมอเตอร์และต้องระมัดระวังมาก เพราะลูกทรายมีความคม จากนั้นใช้น้ำยาขัดเงาทาที่ลูกผ้าติดมอเตอร์ และหมุนภาชนะไปตามลูกผ้าที่หมุนอยู่ เพื่อให้การขัดทั่วถึงและเงางาม

ปัจจุบันการทำเครื่องทองลงหิน ได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเปิดตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยมีการออกแบบและผลิตภาชนะรูปแบบใหม่ๆ นอกจากขันน้ำ พานรอง และจอกลอยอย่างโบราณ เช่น ชามสลัด ชุดกาแฟ ฯลฯ และสามารถเป็นสินค้าส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันศิลปหัตถกรรมเครื่องทองลงหินกับประสบปัญหาขาดแคลนช่างที่มีความรู้ในการผลิต เนื่องจากไม่สามารถฝึกหัดช่างใหม่ขึ้นมาแทนช่างรุ่นเก่าได้ เพราะการฝึกช่างขึ้นมาสักคนต้องใช้ระยะเวลานานคนรุ่นใหม่ที่มาฝึกมักไม่มีความอดทนที่จะฝึกจนสำเร็จเป็นช่าง ดังนั้นช่างฝีมือจึงอาจหมดไปจากบ้านบุในระยะเวลาอันใกล้นี้

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 133 ซอย 32 จรัญสนิ
ตำบล ศิริราช อำเภอ เขตบางกอกน้อย จังหวัด กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อรวินท์ เมฆพิรุณ อีเมล์ orrawin@gmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่