ประวัติ
ผู้้โปรดให้สร้างศิลาจารึกหลักนี้คือ เจ้ามหาพรหม สุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๔ (องค์สุดท้าย) ครองเมืองระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๗๔ ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙เป็นโอรสของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๒ กับแม่เจ้าขอดแก้ว ทรงมีพระภคินีร่วมพระมารดาเพียงองค์เดียวคือแม่เจ้ายอดมโนรา (เจ้านางเบาะ)
พระองค์ทรงมีชายา ๓ คน คนแรกคือแม่เจ้าศรีโสภา อัคคชายา มีโอรสธิดา ๔ คน ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏพระนามในจารึก คือ
-โอรสที่ ๑ เจ้าสุริยวงศ์ (เจ้าน้อยยานนท์)
-ธิดาที่ ๒ เจ้านางบัวเขียว สมรสกับเจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร)
-โอรสที่ ๓ เจ้าบุรีรัตน์ (ขัติยศ)
-โอรสที่ ๔ เจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า)
เมื่อแม่เจ้าศรีโสภาถึงแก่อสัญกรรมไปในปี พ.ศ.๒๔๖๗ อีกสองปีต่อมาจึงทรงมีบาทบริจาริกาอีกสองคนในขณะที่พระองค์มีชนมายุได้ ๘๐ ปี คือเจ้านางบัวทิพย์และเจ้านางสีคำ ทรงมีโอรสกับเจ้านางบัวทิพย์ ๓ คน คือ
๑. เจ้าหนานธาดา ณ น่าน
๒. เจ้าขี้หมู (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
๓. เจ้าหนานสุรพงษ์ ณ น่าน
พระองค์ทรงมีโอรสธิดากับเจ้านางสีคำ ๒ คน คือ
๑. เจ้านิด (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
๒. เจ้าลัดดา อรุณสิทธิ์ (ณ น่าน) ปัจจุบันใช้ชีวิตกับครอบครัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๗๔ สิริชนมายุได้ ๘๕ ปี และตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้ถูกยุบเลิกไปด้วย
๒. ภาพม้าที่ปรากฏในตอนต้นของจารึกน่าจะหมายถึงนักษัตรปีมะเมียอันเป็นปีที่เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ ประสูติ คือ ปี จ.ศ.๑๒๐๘ (พ.ศ.๒๓๘๙) ตรงกับปีมะเมีย อัฐศก
๓. นายช่างที่ชื่อน้อยเมืองหรือเมืองไชยน่าจะเป็นคนเดียวกันกับนายเมืองผู้เป็นช่างปั้นพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ภายในวิหารที่พระธาตุพลูแช่ อ.นาน้อย จ.น่าน ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก พระธาตุพลูแช่ ๑ จ.ศ.๑๒๙๒ (พ.ศ.๒๔๗๓) ซึ่งกล่าวว่านายเมืองเป็นคนบ้านอภัย ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน
สภาพของวัตถุจารึก และอักษร
สภาพของวัตถุจารึกยังมีความสมบูรณ์ แต่ตัวอักษรที่จารึกในส่วนต้นที่มีภาพม้าและตอนท้ายของแต่ละบรรทัดร่องอักษรค่อนข้างตื้น
ที่อยู่ปัจจุบัน
วัดศรีพันต้น ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน