ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 45' 8.086"
13.7522461
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 29' 53.3695"
100.4981582
เลขที่ : 167571
การดูแลผ้าแบบชาววัง
เสนอโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2555
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
1 6214
รายละเอียด

การดูแลรักษาผ้าแบบชาววัง เป็นภูมิปัญญาอันทรงค่าที่เกิดจากชีวิตประจำวันของสาวชาววังในสมัยก่อน ซึ่งการดูแลรักษาผ้าในสมัยนั้นมีกรรมวิธีที่ละเอียด ประณีตในทุกขั้นตอน จนมีคำกล่าวว่าชาววังนั้นประกวดประชันกันมากในเรื่องเครื่องหอมทั้ง น้ำอบ น้ำปรุง เครื่องร่ำต่างๆ ว่ากันว่าถ้าชาววังนางในย่างกรายไปที่ไหนกลิ่นจะหอมขจรกระจาย แม้ว่าตัวจะไปแล้วแต่กลิ่นยังหอมติดกระดานเลยทีเดียว ปัจจุบันภูมิปัญญาในการดูแลผ้าแบบชาววังนี้หาดู หาชมได้ยากแล้ว ขั้นตอนการดูแลรักษาผ้าแบบชาววัง มีขั้นตอนหลักๆ คือ การซัก การขัด การรีดและสุดท้ายคือการร่ำ แต่หากเป็นสไบหรือผ้าที่ต้องจับจีบก็จะนำไปอัดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่ารางจีบ แต่ละขั้นตอนมีความหมายและวิธีการดังนี้

1.การซัก : เป็นขั้นแรกของการทำความสะอาดผ้า ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามประเภทของผ้า เช่น ผ้านุ่ง (ผ้านุ่งลาย) และผ้าเนื้อหนาจะใช้วิธีการต้มในน้ำชะลูดหอมและลูกชัด มีขั้นตอนดังนี้

1.ต้มน้ำในภาชนะขนาดพอเหมาะกับผ้าที่ต้องการซัก

2.เมื่อน้ำเดือด ให้เติมลูกชะลูดหอมตากแห้งเพื่อให้กลิ่นหอม

3. เติมลูกชัดประมาณ 1 กำมือ (ลูกชัดเป็นเมล็ดพืชสีน้ำตาลมีขนาดเท่าเมล็ดองุ่น) เมื่อถูกน้ำร้อนลูกชัดจะคายยางเป็นเมือก เหนียว ลื่นลักษณะเหมือนแป้งเปียกออกมา ทำให้ผ้าแข็งอยู่ทรงเมื่อแห้ง แล้วยังช่วยให้ผ้าขึ้นเงาสวยงามเวลานำไปขัดด้วยหอยเบี้ย (ในขั้นตอนการขัด)

4.ต้มผ้าทีละผืน โดยใช้ไม้พลิกกลับไป-มา พอให้ผ้าคลายสิ่งสกปรกออก เสร็จแล้วนำไปตากให้แห้ง สำหรับผ้าแถบ ผ้าสไบหรือผ้าเนื้อบาง ปกติจะไม่ซักทำความสะอาดบ่อย เพราะระบายความชื้นได้ดีและไม่ค่อยสกปรก (หรือเพียงแช่แล้วซักด้วยน้ำสะอาด แล้วนำขึ้นตาก)

ส่วนผ้าประเภทที่สอดเส้นทอง ไม่ว่าจะเป็นผ้ายกทองอย่างผ้าเยียรบับ ผ้าอัตลัต ผ้าเข้มขาบหรือผ้าปักทองอื่นๆ จะใช้วิธีการแผ่ผ้าให้เรียบแล้วนำไปแช่ในน้ำมันมะพร้าว เมื่อน้ำสกปรกก็รินทิ้ง แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าจนสะอาดแล้วจงซับด้วยผ้าแห้ง

2.การขัด : ผ้านุ่งทั่วไปหรือผ้าเนื้อหนา เมื่อต้มด้วยน้ำชะลูดหอมกับลูกชัดและตากจนแห้งแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำไปขัดด้วยเปลือกหอยเบี้ย (บางครั้งใช้หินโมรา ลูกปืนโบราณหรือลูกแก้ว) เพื่อให้เนื้อผ้าขึ้นเงาสวยงาม

3.การร่ำ : ตามตำรับชาววังแท้ๆ หลังจากซักและรีดผ้าให้สะอาดเรียบดูงามแล้ว ก่อนจะนำไปใช้ ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่ขาดไม่ได้นั่นคือการร่ำผ้าเพื่อให้มีกลิ่นหอมติดทนนาน การร่ำผ้าก็คือการอบหรือปรุงผ้าให้มีกลิ่นหอมโดยการนำผ้าใส่ในโถหรือหีบทึบปิดแน่นสนิทแล้วร่ำ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ร่ำด้วยควันเทียน, ร่ำด้วยดอกไม้สด, ร่ำด้วยน้ำปรุง จนกลิ่นกำซาบเข้าเนื้อผ้า

4.การอัด : ผ้าที่ผ่านกรรมวิธีการซักและอบร่ำจนหอมแล้ว ถ้าเป็นสไบก็จะนำมาจับจีบ โดยใช้คน 2 คนช่วยกันจับจีนคนละข้างจากนั้นจึงนำไม้ที่มีน้ำหนักมาทับให้อยู่ทรงหรือใช้เครื่องมือที่เรียกว่ารางจีบ ซึ่งมีลิ้นเป็นชั้นๆ อยู่ในราง ผู้จับจีบจะพับผ้าคั่นด้วยลิ้นไม้ไผ่เป็นชั้นๆ มัดหัวและท้าย จากนั้นวางลงในรางแล้วใช้ไม้ทับไว้เพื่อให้ผ้าเป็นจีบและอยู่ทรงคงรูป

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการนำผ้าไปเก็บไว้ในหีบ ซึ่งบรรจุดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม จะทำให้ผ้ามีกลิ่นหอมติดทนนานยิ่งขึ้นจนกว่าจะนำไปใช้

สถานที่ตั้ง
จังหวัด กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อรวินท์ เมฆพิรุณ อีเมล์ orrawin@gmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่