ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 46' 29.073"
13.7747425
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 30' 47.1146"
100.5130874
เลขที่ : 167809
เครื่องแต่งกายโขน
เสนอโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 10 พฤศจิกายน 2555
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
3 17105
รายละเอียด

เครื่องแต่งกายของโขนเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อยในการแสดงโขน โดยใช้เครื่องแต่งกายแบบเครื่องยืน ซึ่งเป็นการแต่งกายจำลองเลียนแบบจากเครื่องทรงต้นของพระมหากษัตริย์แบบโบราณที่มีความวิจิตรสวยงาม แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายมนุษย์ เทวดา พระ นาง ฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง สำหรับแสดงถึงยศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้ตัวละครอื่นๆ จะแต่งกายตามลักษณะของตัวละครนั้นๆ เช่น ฤาษี ช้าง ม้า ฯลฯ โดยสีของเสื้อเป็นการบ่งบอกถึงสีผิวกายของตัวละครนั้นๆ เช่น พระรามกายสีเขียวมรกต หนุมานกายสีขาวมุกดา ทศกัณฐ์กายสีเขียวมรกต เป็นต้น สำหรับเครื่องแต่งกายที่เป็นผ้าประกอบด้วยผ้านุ่งและผ้าปักในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกันบ้าง ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยแต่ก็ยังคง (หรือเรียกว่าพัสตราภรณ์) ประกอบไปด้วย

ฉลององค์หรือตัวเสื้อ :

แบบโบราณตัดเป็นเสื้อคอกลมผ่าหน้า ตัวเสื้อไม่เว้าวงแขน ต่อแขนแบบต่อตรง แต่ปัจจุบันตัดเป็นเสื้อสำเร็จรูปคอกลม เว้าวงแขน ทั้งแบบแขนยาวและแขนสั้น (ใช้เฉพาะผู้แสดงเป็นตัวพระผู้หญิง) และใช้เสื้อแขนยาวสีเดียว ปักลายเดียวกับตัวเสื้อเช่นเดียวกันกับเสื้อ แขนยาวและเสื้อแขนสั้นของละครรำคือ ปักแบบลายหนุนประเภทลายพุ่มหรือลายกระจังตาอ้อย สำหรับเสื้อแขนยาวยักษ์ตัวสำคัญจะใช้สีเสื้อตามสีกายของแต่ละตัวที่กำหนดในพงศ์เรื่องรามเกียรติ์ ยกเว้นเสนายักษ์สีแขนและตัวจะต่างกัน เสื้อแขนยาวของตัวลิงจะใช้เสื้อที่เป็นสีเดียวกันทั้งตัวตามสีกายที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกัน ตัวเสื้อปักลายขดเป็นวง โดยสมมติว่าเป็นขนตามตัวลิงและไม่มีอินทรธนู

กรองคอ:

กรองคอใช้ผ้าสีเดียวกับสีขลิบริม กรองคอตัวพระโบราณทีใช้ทั้งแบบกลมและ แบบ ๘ กลีบ แต่ปัจจุบันใช้เฉพาะแบบ ๘ กลีบ ปักแบบลายหนุนรูปกระจังตามกลีบ และจะมีสีแตกต่างกันไป เช่น กรองคอกวาง, กรองคอสุครีพ, กรองคอพระราม, กรองคอนางสีดา, กรองคอทศกัณฑ์ เป็นต้น

อินทรธนู:

อินทรธนู เป็นเครื่องประดับบ่า ใช้กับเสื้อแขนยาวตัวพระและตัวยักษ์ อาจทำด้วยผ้าสีเดียวหรือมีขลิบริมเป็น ๒ สี อินทรธนูโดยทั่วไปมักทำด้วยผ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านโค้ง ๒ ด้าน แต่ด้านฐานมีทั้งแบบตรง และแบบโค้งให้รับกับ วงแขนเสื้อ ปักแบบลายหนุน ประเภทลายกระจังเรียงซ้อนกัน หรือลายกระจังประกอบ กนกเปลว ตรงปลายติดพู่เงิน หรือพู่ทอง แต่ปัจจุบันใช้ซับในสีเดียวกับด้านนอก (อินทรธนูไม่ใช้กับเสื้อแขนยาวของตัวละครที่เป็นตัวสัตว์ทั้งหมด ยกเว้นตัวที่แปลงกายเป็นอย่างอื่น) ซึ่งก็มีลักษณะแตกต่างกันตามตัวละคร

รัดสะเอว :

รัดสะเอว โบราณใช้ผ้าผืนยาวตรง แต่รัดสะเอวปัจจุบันมีลักษณะโค้งตามรูป เอว ทำด้วยผ้าต่วน ๒ สี ขลิบริมด้วยผ้าสีตรงข้าม นิยมปักเป็นลายกนกเทศหาง โต หรือลายตัวกระจัง ปักแบบลายหนุนด้วยดิ้นโปร่ง และเลื่อม ล้อมตัวลายด้วย ดิ้นข้อ มีหลายแบบตามตัวละคร

ชายไหว :

ชายไหวหรือห้อยหน้า ปัจจุบันจะใช้แบบผืนตรงและมีสีเดียวกับห้อย ข้าง พื้นที่บนห้อยหน้าสามารถวางลวดลายต่างๆ ได้อย่างอิสระตามแต่จะออกแบบ หรืออาจวางลายเป็นรูป "สุวรรณกระถอบ" อยู่ตรงกลาง (โดยมากมักใช้สีพื้น เฉพาะตัวรูปสุวรรณกระถอบเป็นสีเหลืองทอง) ช่วงปลายผืนแบ่งเป็นช่องกระจก วางลายประเภทเดียวกับที่ใช้ในห้อยข้าง ปักแบบลายหนุนด้วยดิ้นโปร่งและเลื่อมล้อมตัวลายด้วยดิ้นข้อ ชายผืนติดดิ้นครุยเงิน

ชายแครง :

ชายแครงหรือห้อยข้าง ปัจจุบันมีใช้แบบผืนตรงและแบบผืนโค้งเรียวปลายพลิ้วแยกเป็น ๒ แฉก (หรือห้อยข้างแบบชายไหว) ใช้แต่งกับตัวละครสูงศักดิ์ เช่น พระราม พระลักษมณ์ และเทพเจ้า ซึ่งมีการปักเดินลายยาวโค้งไปตามรูปผืน แต่ชายผืนไม่มีการติดดิ้นครุย

สนับเพลา:

สนับเพลา มีลักษณะเป็นกางเกง (คล้ายกางเกงจีน) เอวกว้าง โบราณใช้ผ้าลายทาง ๒ สี ปัจจุบันใช้ผ้าสีพื้นสีเดียว ปลายขาสอบแคบพอดีกับช่วงเข่าและน่องเรียกว่า "เชิง" มี ๒ แบบ เชิงแบบปลายตรง เรียกว่าสนับเพลาเชิง ปลอก (ใช้กับตัวรอง) และเชิงแบบปลายงอนออกทางด้านหน้าเรียกว่า สนับ เพลาเชิงงอน (ใช้กับตัวเอก) ช่วงที่เป็นเชิงทำด้วยผ้าต่วน ๒ สี ที่เป็น คู่ตรงกันข้าม โดยขอบลายด้านบนจะใช้สีที่เป็นสีขลิบริม (สีตรงข้ามสีหลัก ) ลายปักประกอบด้วย ลายกรวยเชิงขลิบริมด้วยลายประจำยามก้ามปู ปักแบบลายหนุน และแบบลายเลื่อมด้วยดิ้นโปร่งและเลื่อมล้อมตัวลายด้วยดิ้นข้อ ปัจจุบันซับในสีเดียวกับสีด้านนอก ซึ่งกางเกงจะมีสีตามตัวละคร

ผ้าห่มนาง:ผ้าห่มนางมี ๓ รูปแบบ คือ
1. ผ้าห่มนางสองชาย มีลักษณะเป็นสไบแถบผืนยาว ขลิบริมสีตรงข้ามกับสีพื้นเดินลวดลายตามความยาวของผืนผ้า ส่วนปลายผืนผ้าทั้งสองข้างแบ่งเป็นช่องกระจก บรรจุลวดลายประเภทลายพุ่มหรือลายกรวยเชิง ปักแบบลายหนุนด้วยดิ้นโปร่งและเลื่อมล้อมตัวลายด้วยดิ้นข้อชายผืนติดดิ้นครุย
2. ผ้าห่มนางผืนใหญ่ มีลักษณะเป็นสไบแถบ ๒ ผืน ที่เพลาะติดกันไว้กลาง หลัง คว้านช่องคอ ทิ้งช่วงกลางหน้าอกไว้ตรึงให้ติดกันเวลาห่ม มีวิธีการวาง ลาย และการปัก ทำนองเดียวกันกับผ้าห่มสองชาย
3. ผ้าห่มนางยักษ์ มีลักษณะเดียวกันกับผ้าห่มนางผืนใหญ่ ปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่งช่วงปลายผืนมีลักษณะโค้งมน (คล้ายห้อยหลัง) ปักลายหน้า สิงห์ ชายผืนไม่ติดดิ้นครุย

ผ้าสไบ:

ผ้าตาข่าย สีเงิน หรือสีทอง ใช้สวมใส่เมื่อตัวละครออกบวช เช่น นางสีดาออกบวช

เกราะ:

เกราะหรือรัดอก คือเครื่องรัดเกราะ ใช้เฉพราะตัวพระ ตัวยักษ์ ในเวลาออกรบ มีลักษณะเป็นผ้าปักดิ้น ลายสิงห์อัด (ลายหน้าตรง) ขนาดประมาณ ๖ นิ้ว ๒ แผ่น (หน้า-หลัง) และแผ่นขนาด ๖ นิ้ว ยาว ประมาณ ๑๒ นิ้ว (ด้านข้าง) วางต่อกันด้วยแถบผ้าปักดิ้นเดินลายเส้นเกลียว โดยช้สีเดียวกับสีขลิบหรือสีแดง

ห้อยก้น:

ห้อยก้นหรือห้อยหลัง (บ้างก็เรียกว่าผ้าปิดก้น) มีลักษณะคล้ายผ้าทิพย์ (หน้าฐานชุกชีพระพุทธรูป) ตัวผืนแบ่งช่วงวางลายเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนนิยมปักลายพุ่ม ช่วงล่างเป็นลายกรวยเชิง ปักแบบลายหนุน ชายผืนไม่ติดดิ้นครุยเหมือนห้อยข้างและห้อยหน้า ห้อยก้นนี้ใช้เฉพาะกับการนุ่งผ้าก้นแป้นของตัวยักษ์ ตัวลิงและตัวสัตว์ต่างๆ เท่านั้น

หางลิง:

หางลิงมีพู่ สีตามสีกายของตัวลิง โดยปักเลื่อมลายแทนขนลิง เช่น หางลิงมีพู่หนุมาน, หางลิงมีพู่สุครีพ

สำหรับการทำเครื่องเเต่ง กายของโขนนั้นต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญ เพราะเป็นงานที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากทั้งการตัดเย็บ, ปักลวดลาย เป็นต้น บ้านนราศิลป์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญในการทำชุดโขนจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ลายปักชุดอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ได้แก่ ลายป่า ลายดอกร่วง ลายไม้ร่วง สี่ก้านสี่ดอก ซึ่งเป็นลายโบราณ ซึ่งเป็นลายที่ได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 คุณลักษณะพิเศษคือเมื่อปักเสร็จเป็นชุดแล้วจะมีน้ำหนักเบา

สถานที่ตั้ง
อำเภอ เขตดุสิต จังหวัด กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่