ประเพณีทอดกฐิน เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลเพราะเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนถือว่าเมื่อได้ทอดกฐิน แล้วจะเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นผลบุญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า "กฐิน" แปลว่า กรอบไม้สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า "สดึง"เพราะในสมัยโบราณไม่มีจักรเย็บผ้าจึงต้องอาศัยสะดึง เมื่อสำเร็จเป็นผ้ากฐินแล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือนเรียกว่า "ทอดกฐิน"การทอดกฐิน ก็คือการนำผ้ากฐินไปไว้ต่อหน้าสงฆ์โดยมิได้เจาะจงว่าจะถวายภิกษุรูปใด พร้อมกับกล่าวคำถวายกฐินเมื่อจบคำถวายแล้วพระสงฆ์จะรับพร้อมกันว่า "สาธุ" แล้วผู้เป็นเจ้าภาพหรือเป็นประธานในการทอดกฐินนั้นก็เข้าไปรับผ้าไตรกฐินประเคนพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้หรือจะไม่ประเคนเอาไปวางไว้เฉยๆ ก็ได้ ต่อจากนั้นจัดการถวายเครื่องบริขารต่าง ๆ ตามที่ได้เตรียมมาพระสงฆ์ที่ได้รับประเคนผ้าไตรกฐินจัดการมอบผ้าไตรนั้นให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่ลงความเห็นแล้วว่าเป็นผู้สมควรจะได้รับผ้านั้นเมื่อท่านทำพิธีกรานกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็จะได้อนุโมทนาต่อไป
ประเพณีทอดกฐิน ของชาวอำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ ทุกคนจะร่วมจิตรวมใจเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพในการทอดกฐิน โดยกำหนดวัดใดวัดหนึ่งที่ทุกคนเห็นว่าสมควรได้รับกฐิน ในพิธีจะมีนายอำเภอชุมตาบงเป็นประธานในการทอดกฐิน สำหรับวัดในแต่ละปีทุกวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว เพราะเป็นกาลทาน คือ ทานที่ทำได้ตามกาล ผิดกาลจะทอดไม่ได้ จัดเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และมีการกำหนดเวลาในการทอดกฐินได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น กล่าวคือ นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันแรม 1ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถ้าทำก่อนเหนือหลังช่วงเวลานี้จะไม่เรียกว่ากฐิน และวัดที่จะทอดกฐินได้จะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป จึงจะมีสิทธิรับกฐินได้ อีกทั้งยังมีพระวินัยห้ามมิให้พระในวัดไปออกบิณฑบาตจากญาติโยมไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยวาจาหรือโดยหนังสือ เพื่อชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน หากมีการกระทำดังกล่าว กฐินนั้นจะถือเป็นโมฆะ พระผู้รับกฐินก็จะไม่ได้รับอานิสงส์