งานประเพณีชักพระประเพณีชักพระ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขอฝชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้นจึงมีการจัดทำเรือพนมพระขึ้นมากมายหลายวัด มีการประกวดแข่งขันเรือพนมพระ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้วัดต่าง ๆ ทำเรือพนมพระเข้าร่วมขบวนแห่อย่างมากมาย ซึ่งในอดีตการทำเรือพนมพระเพื่อออกแหนแห่ ทำด้วยเกิดจากศรัทธาของชาวบ้านและพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ ที่มีฝีมือทางเชิงช่างด้านต่าง ๆ เช่น งานช่างไม้ งานฉลุไม้ งานช่างสี งานจิตรกรรม อันแสดงออกถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาอย่างยาวนาน
ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เชื่อว่าเกิดขึ้นมายาวนานเนื่องด้วยพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานให้เห็น ชัดเจนในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีศูนย์กลางความเจริญของอาณาจักรศรีวิชัยคือที่ตั้งของ อำเภอไชยาในปัจจุบัน
คำว่า “เรือพนมพระ” สามารถแปลความหมาย “พนม” ได้ว่า ภูเขา ซึ่งภูเขาในบริบทนี้ หมายถึงเขาพระสุเมรุซึ่งเชื่อว่า เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีการทำเป็นเชิงฐานที่ซ้อนสูงขึ้นเป็นตัวของบุษบก นั่นคือตัวของภูเขา บนยอดเขาพระสุเมรุ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นครแห่งเทพชื่อนครไตรตรึงษ์อยู่ มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นเทวราชผู้อภิบาลโลก และพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ ที่อยู่ของพระอินทร์เรียกว่าไพชยนต์มหาปราสาท ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานแท่นบัณฑุกัมพลอันเป็นทิพยอาสน์ เป็นการแสดงสัญลักษณ์ของพนมพระ โดยประดิษฐ์เป็นทรงมณฑปหรือทรงปราสาทย่อมุม สัญญะสื่อความหมายถึง ไพชยนตร์มหาปราสาท หรือพระวิมานของพระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุนั่นเอง
การประดับฉัตร ธง แวดล้อม พนมพระ นอกจากจะสื่อความหมายถึง เครื่องอิสริยยศของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์แล้ว ยังสื่อความหมายถึง ทวีปทั้ง ๔ ที่อยู่โดยรอบเขาพระสุเมรุ นั่นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป
การประดับตกแต่งเรือพนมพระ ด้วยพญานาค หรือ นาค เป็นสัญญะการสื่อความหมายถึงว่า นาคเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เชื่อว่า สามารถเชื่อมโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ได้ เฉกเช่นตามพุทธประวัติที่พระอินทร์เนรมิตบันไดนาคให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ นอกจากนั้น ยังสามารถตีความการแทนค่าสัญลักษณ์ ได้ว่า พญานาคในเรือพนมพระ สื่อถึงน้ำ คือ มหานทีสีทันดร ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ (พนมพระ) ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล และยังหมายถึง มหาสมุทรทั้ง ๔ อันมีน้ำเต็มเป็นนิจใน ๔ ทวีป ประกอบด้วย ปิตสาคร ทางทิศเหนือ มีน้ำสีเหลือง ผลิกสาคร ทางทิศตะวันตก มีน้ำใสสะอาด เหมือนแก้วผลึก ขีรสาคร เกษียรสมุทร ทางทิศตะวันออก มีน้ำสีขาว นิลสาคร ทางทิศใต้ มีน้ำสีน้ำเงินอมม่วงสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://suratthani.m-culture.go.th/th/local-tradition/180947