ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 30' 6.4224"
17.501784
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 45' 29.0844"
99.758079
เลขที่ : 169177
ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว
เสนอโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ ไม่ระบุ
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : สุโขทัย
0 4213
รายละเอียด
เครื่องมือการจัดเก็บข้อมูล 15 ชาติพันธุ์ ชื่อ ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว หลักแหล่งเดิม เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ในประเทศลาว บทบาทสำคัญของกลุ่มชนต่อการพัฒนาวัฒนธรรมเมืองไทย ไทย พวนบ้านหาดเสี้ยว เป็นชุมชนในหมู่บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ประมาณ 8,932 ไร่ หรือประมาณ 143 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตติดต่อกับชุมชนอื่นโดยรอบ คือ ทิศเหนือ จดตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทิศใต้ จดตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทิศตะวันออก จดตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทิศตะวันตก จดตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ความหมายของคำว่าหาดเสี้ยว เป็นการเรียกขานตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่หมู่บ้านนี้ มีแม่น้ำยมไหลผ่านหาดกลางน้ำ ขนาดใหญ่ อันเป็นเหตุให้แยกลำน้ำออก เป็นสองสาย แล้วไหลบรรจบกัน ที่ปลายเสี้ยวของหาดทางทิศใต้ ประกอบกับที่กลางหาดมีต้นกาหลง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ต้นส้มเสี้ยว จึงนำเอาคำว่าหาด กับคำว่าเสี้ยว มาประสมกัน อีกความหมายหนึ่ง เล่ากันว่า แต่ก่อนหมู่บ้านนี้ไม่มีชื่อ จวบจนธิดาสาวเจ้าเมืองเชียงราย ได้เสด็จทางชลมารคลงเรือมาด ที่เมืองแพร่ ล่องมาตามลำน้ำยมเพื่อจะไปเยี่ยมพระสหาย ซึ่งเป็นพระธิดาเจ้าเมืองตาก บังเอิญเรือรั่วขณะผ่านมาทางย่านนี้ จึงแวะจอดซ่อมเรือ ถามคนแถวนี้ถึงชื่อบ้าน ไม่มีใครตอบได้ บังเอิญได้พบหัวหน้าหมู่บ้าน ที่มาช่วยเหลือ จึงได้ชี้แนะให้ เรียกบ้านหาดเชี่ยว ตามความไหลเชี่ยว ของน้ำยม ที่ไหลผ่านช่วงนั้น หัวหน้าหมู่บ้านได้ขยายความข้อนี้ จนกลายเป็น ชื่อเรียกติดปาก ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งเมื่อสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชเสด็จหมู่บ้านนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2460 ได้ทรงโปรดให้ เปลี่ยนชื่อบ้านจาก หาดเชี่ยว เป็น หาดเสี้ยว และวัดประจำหมู่บ้าน ที่ชื่อวัดโพธิ์ไทร ก็ให้เรียกเป็น วัดหาดเสี้ยว เช่นเดียวกัน ชุมชน หาดเสี้ยว สุโขทัย มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยพวน ที่อพยพมาจาก เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ในประเทศลาว เมื่อรัชกาลที่ 3 ประมาณ ปี พ.ศ. 2387 เป็นหนึ่งในจำนวนไทยพวน ที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน 23 จังหวัด ชุมชนหาดเสี้ยว มี 5 เครือข่าย คือ บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ บ้านป่าไผ่ และบ้านแม่ราก การอพยพ ของบรรพบุรุษพวน บ้านหาดเสี้ยวครั้งนั้น กล่าวกันว่ามีทั้งฝ่ายฆารวาส และฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆารวาสมีพี่น้องสามแสน คือ แสนจันทร์ แสนปัญญา และ แสนพล เป็นหัวหน้า ฝ่ายสงฆ์มี เจ้าหัวอ้าย สมเด็จวัดบ้านตาดเป็นหัวหน้า คาดว่าเดินทางเข้าประเทศไทยทางจังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ มุ่งสู่เมืองสวรรคโลก เลือกภูมิประเทศ บริเวณบ้านหาดเสี้ยว ลุ่มน้ำยมปลูกสร้างบ้านเรือน สร้างวัด และหาที่ดิน ประกอบอาชีพกสิกรรม ตอนนั้นเจ้าเมืองสวรรคโลก ได้แต่งตั้งแสนจันทร์เป็นผู้ปกครองดูแลราษฎรในท้องที่ เก็บภาษีอากร นำส่งรัฐบาลถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางทางน้ำ ไปและกลับ เป็นเวลาเดือนเศษ เมื่อแสนจันทร์ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองสวรรคโลก ได้แต่งตั้งบุตรชายคนโตของท่าน ชื่อทอง รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีพิทักษ์ ปกครองต่อ จนเป็นต้นสายพันธุ์ สกุลหาดเสี้ยวในปัจจุบัน ภาษา ไทยพวน โครงสร้างทางสังคม การเมือง การปกครอง แบบเดียวกับสังคมไทย ขนมธรรมเนียมประเพณี ชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว จะมีประเพณีที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ประเพณีแห่ช้างบวชนาค ชาวตำบลหาดเสี้ยวที่นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อง อานิสงค์ของการบวช ทั้งการบวชพระ และบวชเณร ดังนั้นครอบครัว ที่มีบุตรหลานเป็นชาย เมื่ออายุครบบวช ก็จะจัดการทำพิธีบวชให้ การบวชในปัจจุบัน มีรูปแบบการจัด 2 แบบ คือ งานบวชธรรมดา ไม่ จัดพิธีเอิกเกริก ส่วนใหญ่จะเป็นการบวชพระ ในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา บวชหมู่ นิยม บวชกันในเดือนสี่ (ประมาณเดือนเมษายน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดหลายวัน ระยะเวลาในการบวชจะมีตั้งแต่ 7 – 15 วัน จนถึงหนึ่งเดือน การบวชในลักษณะนี้ ถือเป็นงานประเพณีประจำปี ของท้องถิ่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน ในการจัด โดยถือเอาวันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็นวันงาน และชาวบ้านเรียกว่า “งานแห่ช้างบวชนาค” ปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้กลายเป็น ประเพณีประจำปี ของอำเภอศรีสัชนาลัย ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันต่อๆกันมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี ของดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษประเพณีกำฟ้าขึ้น งดเว้นจากการงาน ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ทั้งหมด ถึงวันนี้ ตามประเพณีจะทำสำรับ คาวหวาน ถวายพระ เช้า-เพล ตอนสายๆและกลางวัน เด็กๆจะเล่นไม้ หม่าอื๊ อ ( ไม้งัด ) ส่วนตอนกลางคืน เด็กเล็ก และหนุ่มสาว จะเล่นกันอย่างสนุกสนาน เช่นผีนางกวัก โดยปรกติปีหนึ่งจะกำ 3 ครั้งหรือสามวัน ในปัจจุบัน จะมีการกำ ดังนี้ กำ ครั้งที่ 1 ขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงพระอาทิตย์ตกดินของวันรุ่งขึ้น กำ ครั้งที่ 2 ขึ้น 9 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาคืนเพล ( เป็นภาษา ถิ่น ไทยพวน คือ เวลาฉันอาหารกลางวันของพระสงฆ์ ) กำ ครั้งที่ 3 ขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาจังหัน ( เวลาฉันอาหารเช้าของพระสงฆ์ ) การเล่นนางกวัก การเล่นนางกวัก เป็นการละเล่นที่นำกวัก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ในการทอผ้า มาตกแต่ง ใส่หัว ที่นำมาจากกะลามะพร้าว แล้วเขียนคิ้ว ทาปากให้สวยงาม แล้วอัญเชิญดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษ มาเข้าสิงสถิต เพื่อทำการ เสี่ยงทาย ซึ่งอาจจะเสี่ยงทาย ในเรื่องของคู่รัก การทำงาน หรือโชคชะตาชีวิต จุลกฐิน จุลกฐิน นับ เป็นกฐินสด หรือ กฐินด่วน ที่ไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว มีส่วนร่วม ทั้งที่เป็นเจ้าภาพเอง และไปช่วยไทยพวน จังหวัดอื่น เป็นเจ้าภาพ จุลกฐินของไทยพวนหาดเสี้ยว นิยมจัดผนวกกับการกวนข้าวทิพย์ และทอดผ้าป่าไปพร้อมกัน โดยเฉพาะ การทอดผ้าป่านี้นั้น มักมีไทยพวนจังหวัดอื่น จัดกองผ้าป่า มาร่วมกุศลด้วย และการจัดงานจุลกฐินนี้ นานปีถึงจะจัดกันได้สักครั้ง อย่างที่วัดหาดเสี้ยว จัดงานจุลกฐินครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ก็ต้องจัดห่างจากครั้งก่อนถึง 48 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ ชาวไทยพวน มีชีวิตที่เรียบง่ายประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีฝีมือทางด้านหัตถกรรมการทอผ้า ที่สำคัญคือการทอผ้าตีนจก ชาวไทยพวนมีความผูกพันกับพุทธศาสนา ยังคงสืบทอดและรักษาประเพณีและวัฒนธรรมอย่างมั่นคง การประกอบอาชีพ ชาวไทยพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีอาชีพ ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เวลาว่างจากการทำนา หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก ผู้เป็นช่างเงิน ช่างทอง ก็ทำเครื่องเงินเครื่องทอง ที่อยู่อาศัย คนไทยพวนนิยมจะปลูกบ้านยกพื้นสูง เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือจักสานต่างๆ เครื่องมือเกษตรกรรมและเครื่องมือการทอผ้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมการแต่งกาย สามารถจำแนกเพศ อายุของชาวไทยพวน โดยสังเกตจากสีและชนิดของเสื้อผ้า คือ การแต่งกายชาย ผู้ชายไทยพวนทุกวัยจะแต่งเหมือนกัน เดิมแต่งกายแบบโจงกระเบน มีผ้าขาวม้าคาดเอว ไม่ใส่เสื้อ ใช้เฉพาะโอกาส ที่เป็นพิธีการ ส่วนโอกาสทั่วๆไป สวมกางเกง เป็นกางเกงขาก๊วย (โส้ง-แล้) ผ้าขาวม้าคาดเอว ไม่ใส่เสื้อ นอกจาก เวลาออกไป ทำไร่ไถนา จะใส่เสื้อคอตั้ง แขนยาว สีน้ำเงิน ใช้ผ้าทอแบบเดียวกัน ทั้งเสื้อ และกางเกง ไม่มีเครื่องประดับอื่น การแต่งกายของหญิง จำแนกเป็นแบบต่างๆ ตามวัยและลักษณะของการเป็นโสด และแต่งงานแล้ว คือหญิงสาวทีj ยังไม่แต่งงาน อายุระหว่าง 10-15 ปี ใช้ผ้านุ่งที่เรียกว่าซิ่นเข็น โอกาสพิเศษ ก็จะนุ่งซิ่นตีนจก ใช้ผ้าแถบ คาดปิดหน้าอก ทอเป็นผืนยาว เรียกว่า “ผ้าแฮ้งตู้” เมื่ออายุระหว่าง 15-20 ปี จะแต่งทรงผม นิยมรวบขึ้น แบบเกล้ามวย เรียกว่า “โค้งผม” อายุ 20 ปีขึ้นไป จะทำทรงผมเรียกว่า “ฮอดเกล้า” คือ รวบผมขึ้นมาขอดไว้ ตรงกลางศีรษะ ด้านหน้า ตรงบริเวณหน้าผาก แล้วปล่อยชายผม โผล่ออกไปด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่ง ผู้หญิง ที่แต่งงาน หรือมีอายุ 20 ปีขึ้นไป นิยมไว้ทรงผมทรง “ฮอดเกล้า” ใช้ผ้านุ่งเป็นซิ่นตาเติบ ในโอกาสพิเศษ จะใช้ผ้านุ่ง ซิ่นมุกตีนจก ผู้หญิงสูงอายุ จะเปลี่ยนทรงผมตัดสั้น เรียกว่า “ทรงดอกกระทุ่ม” เครื่อง ประดับนิยมใช้แต่งในโอกาสพิเศษ เช่น ไปทำบุญหรือพิธีต่างๆ นิยมประดับด้วยทอง มีปิ่นปักผม สายสร้อย ตุ้มหู กำไล แหวน สร้อยสังวาลย์ที่เรียกว่า “แม่แล่ง” อาหาร อาหารพื้นบ้าน ที่มีวัตถุดิบหาได้ธรรมชาติตามที่อยู่อาศัย จะเป็นอาหารง่าย ๆ ที่ประกอบจากพืชผัก ปลา ที่มีในท้องถิ่น
หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
ตำบล หาดเสี้ยว อำเภอ ศรีสัชนาลัย จังหวัด สุโขทัย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านหาดเสี้ยว
ตำบล หาดเสี้ยว อำเภอ ศรีสัชนาลัย จังหวัด สุโขทัย
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่