เทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่สนามทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยเริ่มก่อนสร้างในช่วง 18 มีนาคม – 30 พฤศจิกายน 2542 เป็นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างด้วยปูนสูง 22 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.40 เมตร ฐานเป็นรูปวงรี
ขบวนต้นเทียนจำลอง เรื่อง พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์จากการดัดแปลงจากชาดกในทศชาติ เรื่อง "พระมหาชนก" ที่แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียรของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยชาติพระพุทธเจ้า
ลักษณะโครงสร้างของเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ด้วยกัน คือ
(1) ส่วนสระซึ่งแทนมหาสมุทร มีขนาดกว้าง 4 เมตร ลักษณะรูปวงรีแบบไข่ ลึก 1 เมตร มีลวดลายบัวแวงแบบอุบลประดับ
(2) เรือสำเภา ยาว 16 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร หัวเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ซึ่งเป็นลักษณะนาคแบบอุบล คือส่วนหงอน ส่วนปลายยอดของพญานาคจะทำเป็นลายช่อสะบัด เหมือนรูปหางไหลเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไป และที่ส่วนหน้าอกก็จะมีปีกอยู่ส่วนของลำเรือ และหางเรือจะประดับด้วยลวดลายแบบอีสาน คือ ลวดลายจะเน้นเป็นรูปคล้ายเลขหนึ่งไทยที่ม้วนตัวเข้า ประกอบภาพปรกที่ส่วนหัวและภาพเทวดาที่ส่วนท้าย
(3) ภาพบุคคล เป็น ภาพบุคคลที่อยู่ในเรือสำเภาและบุคคลที่ว่ายน้ำที่ประกอบด้วย ภาพพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำ และลูกเรือกำลังถูกสัตว์น้ำกัดกินและกำลังจมน้ำอยู่
(4) ต้นเทียน ประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก ฐานล่างสุด เป็นรูป "พญาหงส์" หมาย ถึง สัตว์ที่แสดงถึงความนุ่มนวลอ่อนหวาน ความสง่างามของกษัตริย์ แบกรับขันหมากของอีสาน รับฐานครุฑ หมายถึง กษัตริย์ไทย ซึ่งบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนที่สอง คือ ฐานชั้นที่ 2 เป็นรูป "พญาครุฑ" เป็นเทพในศาสนาของพราหมณ์ ซึ่งเป็นพาหนะของกษัตริย์ลัทธิไวษณพนิกาย และฐานชั้นที่ 3 เป็นภาพดอกบัวที่มีลักษณะเป็นบัวกลีบยาว ซึ่งหมายถึงอุบลราชธานี หรือตัวแทนความเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนที่สี่คือส่วนลำต้น เป็นภาพตอนสำคัญของทศชาติบารมี ประกอบกับลวดลายแบบอีสาน คือ ลวดลายกนกที่ขมวดคล้ายกับเลขหนึ่งไทย ที่ดูอวบอ้วน และดูช่องไฟค่อนข้างแน่น และสุดท้ายส่วนยอด เป็นภาพของสถาปัตยกรรมแบบเมืองอุบล ที่ลอกแบบมาจากเจดีย์ทรงแจกันเหลี่ยมที่วัดพระธาตุสวนตาล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี